
วัดมหาธาตุวรวิหาร

Rating: 3/5 (8 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวเพชรบุรี
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกระแชง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรีมาแต่สมัยอยุธยา มีลักษณะพิเศษคือ มีพระปรางค์ห้ายอด ล้อมรอบด้วยพระระเบียงคด ที่หน้าบันพระวิหารหลวงประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยา มีความงดงามมาก ใบเสมา เป็นใบเสมาคู่สมัยอยุธยาตอนปลาย ทำด้วยหินทรายแดง จำหลักลวดลายทั้งใบ
พระปรางค์วัดมหาธาตุ ฯ ซึ่งเป็นพระปรางค์ห้ายอด ที่ตั้งตระหง่านเป็นสง่าอยู่กลางเมืองเพชรบุรี โดยมีความสูงถึงยอดนภศูลประมาณ 55 เมตร รอบฐานยาว 12๐ เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 1,๐๐๐ ปี หลักฐานจากสมุดเพชรบุรี จึงระบุว่าได้พบอิฐสมัยทวาราวดี บริเวณป่าช้าวัดมหาธาตุ ฯ ด้านที่อยู่ติดกับวัดแก่นเหล็ก นั้นเป็นแผ่นอิฐยาวประมาณหนึ่งศอก และปิดทับอยู่บนหลุมฝังศพ โดยมีซากโครงกระดูกหนึ่งโครง จะมีอักษรจารึกที่แผ่นอิฐนั้นมีความว่า "ข้าพเจ้าจีนแดงได้สร้างพระปรางค์ไว้ไม่สำเร็จ ขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างพระปรางค์นี้อีกต่อไป"
พระปรางค์วัดมหาธาตุ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการบูรณะมาแล้ว 5 ครั้ง คือ
ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2357 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.24๐6 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม และพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) รักษาการเจ้าเมืองเพชรบุรี ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์
ครั้งที่สาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสุรพันธพิพิสุทธ (เทศ บุนนาค) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์ โดยก่อให้สูงระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เสร็จองค์พระปรางค์ก็พังลงมา จึงได้ก่อขึ้นไปอีกประมาณสี่ศอก งานค้างอยู่เพียงเท่านั้น เนื่องจากเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน
ครั้งที่สี่ เมื่อปี พ.ศ.2471 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสุวรรณมุนี (ชิด) เจ้าอาวาส ได้มอบให้นายพิณ อินฟ้าแสง เป็นผู้ออกแบบ และขออนุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อทางราชการ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเป็นองค์พระปรางค์ห้ายอด แต่ยังไม่มีลวดลายตกแต่งภายนอก เพราะทุนทรัพย์หมดลง ใช้เวลาดำเนินการอยู่ 1 ปี 11 เดือน รวมเงิน 13,๐๐๐ บาท ในการบูรณะครั้งนี้ได้พบตลับลายครามบรรจุพระพิมพ์ขนาดเล็ก เป็นพระพุทธรูปทองและเงิน และพบพระบรมสารีริกธาตุจำนวนสององค์
ในปี พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปยังวัดมหาธาตุ ฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,5๐๐ บาท ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ด้วย ได้มีผู้ร่วมบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก การบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2479 เป็นพระปรางค์ที่สูงใหญ่สง่างาม ประกอบด้วย ศิลปะปูนปั้นอย่างวิจิตรงดงาม รวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 2๐,๐๐๐ บาท
ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยปัจจุบัน พระเทพสุวรรณมุนี เจ้าอาวาส ได้ทำการบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2535 ใช้เวลาประมาณปีเศษ โดยใช้เงินจากผู้มีจิตศรัทธา เป็นเงิน 11 ล้านบาทเศษ
พระวิหารหลวง มีงานประติมากรรมที่หน้าบันและงานจิตรกรรมในพระวิหารหลวง ดังนี้
- หน้าบัน เป็นฝีมือของชาวเพชรบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปั้นเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ และหนุมานแบกครุฑ ประกอบด้วยลายก้านขด ส่วนล่างของหน้าบันทำเป็นรูปเทพพนม ช่อฟ้าและหางหงส์ก็ปั้นเป็นรูปเทพพนมเช่นกัน
- ภาพจิตรกรรม บริเวณขื่อ เพดาน และผนังด้านหน้าพระประธาน ระหว่างช่องประตู เป็นภาพพุทธประวัติผนังทิศเหนือตอนบนสุด เขียนลายเส้นลวดลูกฟักก้ามปู ถัดลงมาเขียนภาพเทพชุมนุมสามชั้น ชั้นละ 29 องค์ แต่ละชั้นมีลายเส้นลวดกั้นแบ่งระดับ ระหว่างองค์เทพมีพัดกั้น ตรงลายลูกฟักที่เส้นลวด เขียนชื่อผู้บริจาคเงินไว้ทุกช่อง
ระหว่างช่องหน้าต่าง นั้นจะแบ่งผนังออกเป็นเจ็ดห้อง เขียนภาพทศชาติชาดก ผนังด้านทิศใต้ โดยจัดผนังแบบเดียวกับด้านทิศเหนือและเขียนภาพคล้ายกัน ซึ่งจำนวนเทพชุมนุมแต่ละชั้นมีน้อยกว่า สมเด็จ ฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ในจดหมายเหตุระยะทางไปมณฑลราชบุรี ร.ศ.121 จึงได้กล่าวถึงภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวงไว้ มีความตอนหนึ่งว่า
"ผนังข้างบน ด้านหน้ามีมารประจญ ด้านข้างเทพชุมนุม หลังท้าวมหาชมพู ข้างล่างเรื่องมหาชาติ เห็นจะราวพระยอดฟ้า ไม่สู้เก่านัก ไม่สู้ดี แปลกแต่เทพชุมนุมมีวิทยาธรนั่งด้วย เห็นจะเอาอย่างวัดใหญ่"




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage