
มหาวิทยาลัยพะเยา

Rating: 4/5 (5 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวพะเยา
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ.2553 ขึ้น และประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 จึงถือได้ว่า มหาวิทยาลัยพะเยา ได้แยกออกจากมหาวิทยาลัยนเรศวร
เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ อย่างเต็มรูปแบบ ถือได้ว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับชาวจังหวัดพะเยา ที่มีสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพผ่านการผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตออกมารับใช้สังคมและประเทศชาติอย่างมากมาย ด้วยการนำของอธิการบดีและคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์ที่รุดไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงความเป็นมาของ มหาวิทยาลัยพะเยาว่า มหาวิทยาลัยพะเยา ก่อนได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้อยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกระจายโอกาสและการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบมหาวิทยาลัยได้พิจารณาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและสมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา รวมทั้งผู้แทนจากภาครัฐและเอกชน ในการแก้ปัญหาเรื่องรายได้และการศึกษาของประชากรในจังหวัดพะเยา
โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ จึงได้จัดโครงการกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่จังหวัดพะเยาขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัย ที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยขยายเขตการศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคต ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อมาคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2539 ได้มีมติให้ใช้ชื่อว่า วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา การจัดการเรียนการสอนระยะเริ่มแรกได้ใช้อาคารของโรงเรียนพะเยาพิทยาคมเป็นการชั่วคราว
สำหรับสถานที่ตั้งถาวร มหาวิทยาลันนเรศวรได้ร่วมกับทางจังหวัดพะเยาจัดหาสถานที่ตั้ง ณ บริเวณ ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประกอบด้วยที่ดินจำนวน 5,727 ไร่ เมื่อการก่อสร้างได้แล้วเสร็จ จึงได้ย้ายมาสถานที่ตั้งถาวรและเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ในคราวประชุมครั้งที่ 13 (4/2550) สภามหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อ “มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา” เป็น “มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา”
ภายใต้การบริหารงานมหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ได้จัดทำแผนแม่บท เพื่อรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคต ทำให้มีความพร้อมด้านอาคารสถานที่และครุภัณฑ์ต่างๆ รองรับบุคลากรและนิสิต ประกอบด้วย อาคารสำนักงานอธิการบดี อาคารเรียนรวม กลุ่มอาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารปฏิบัติการ อาคารหอพักนิสิต อาคารหอพักอาจารย์ อ่างเก็บน้ำ สนามกีฬากลางแจ้ง กลุ่มอาคารเรียนรวมสำนักหอสมุด กลุ่มอาคารวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อาคารเรียนและปฏิบัติการวิจัยด้านภาษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ สถานีไฟฟ้าย่อย และอาคารศูนย์บริการวิชาการจังหวัดเชียงราย
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้สร้าง อาคารสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมล้านนา(ไต) ขึ้นด้วยงบประมาณ 183,700,000 บาท ได้รับการออกแบบโดยอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ห้องประชุมขนาด 2,800 ที่นั่ง ลานอเนกประสงค์ และห้องสำนักงาน รูปทรงของอาคารเป็นแนวศิลปะล้านนาร่วมสมัย ซึ่งนำเอาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของศิลปกรรมล้านนามาปรับประยุกต์ให้เข้ากับอาคารสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว และอาคารสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมล้านนา(ไต)แห่งนี้ จะเป็นสถานที่ ที่ใช้สำหรับรับพระราชทานปริญญาบัตร ให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ในอนาคต
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ขึ้น และ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา ได้รับการจัดตั้งเป็น “มหาวิทยาลัยพะเยา (University of Phayao)” ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา






