หน้าหลัก > ภาคกลาง > จ.สุพรรณบุรี > อ.เมืองสุพรรณบุรี > ต.ท่าพี่เลี้ยง > พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์)


สุพรรณบุรี

พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์)

พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์)

Rating: 4.7/5 (6 votes)

วันเปิดทำการ: วันพุธ - วันอาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์
เวลาเปิดทำการ: 10.00 - 16.00 น.
อัตราค่าเข้าชม: ชาวไทย ผู้ใหญ่ 299 บาท เด็ก149 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 499 บาท เด็ก 299 บาท
 
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์) ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539 ขณะที่ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย
 
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ออกแบบขึ้น เพื่อนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอารยธรรมจีนที่ยาวนานถึง 5,000 ปี ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่ และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้รูปแบบมังกรสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่รู้จักกันดี ภายในห้องจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยตำนานการสร้างโลกยุคแรกเริ่มทางประวัติศาสตร์ ลำดับราชวงศ์ตั้งแต่ยุคหวงตี้ ถึงราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการแสดงประวัติความเป็นมาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย
 
เรื่องราวที่นำเสนอ ประกอบด้วย เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ ปรัชญา ภูมิปัญญา และการค้นพบประดิษฐกรรมสำคัญของบรรพบุรุษชาวจีน ผ่านสื่อจัดแสดงที่น่าสนใจ และสวยงาม การจัดแสดงนิทรรศการภายในตัวมังกรใช้สื่อจัดแสดงที่ทันสมัย เช่น ภาพยนตร์ ระบบโสตทัศนูปกรณ์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แสง เสียง หุ่นจำลอง
 
นอกจากนั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างครบครัน เป็นต้นว่า ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องรับฝากของ จำหน่ายหนังสือ และห้องจำหน่ายของที่ระลึก มุ่งเน้นให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน อีกทั้งสอดแทรกคุณธรรมสำคัญในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่บรรพบุรุษชาวจีนยึดถือ และได้ปรากฏให้เห็นตลอดเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้นำเอาความรู้และคุณธรรมไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตในโอกาสต่อไป
 
อีกทั้งยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับประเทศให้เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นจังหวัดตัวอย่างในการพัฒนาของประเทศไทย  
 
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์) เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ปิดทุกวันอังคาร เข้าชมเป็นรอบ ๆ มีชุดหูฟังเสียงบรรยายภาษาอังกฤษและจีนให้บริการ ค่าเข้าชมชาวไทย ผู้ใหญ่ 299 บาท เด็ก 149 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 499 บาท เด็กต่างประเทศ 299 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3552 6211 – 2
 
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ทางลาด มีทางลาดเข้าอาคาร ควรมีผู้ช่วยเหลือคนที่ใช้ Wheel Chair ในการขึ้นทางลาด ป้ายสัญลักษณ์ จัดเฉพาะบริเวณหน้าห้องส้วม ห้องส้วม มีห้องส้วมเฉพาะ 1 ห้องด้านนอกอาคารแบบไม่แยกเพศ ตั้งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร โดยไม่ต้องผ่านถนนกรวด
 
ความเป็นมาก่อเกิดจากความสัมพันธ์ไทย - จีนที่แนบแน่น สัมพันธ์ไทย - จีน นานยาวหลายศตวรรษ ชาวจีนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารต่างแซ่ซ้องสดุดี แสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินไทยในทุกโอกาส อาคารหลังนี้ สร้างขึ้นโดยแรงบันดาลใจของนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ร่วมกับพ่อค้า
 
ประชาชนที่สนใจในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย - จีน และเพื่อฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ที่มีอายุครบ 20 ปี ใน พ.ศ.2538 จึงได้ริเริ่มรวบรสมเงินจากผู้ศรัทธามาออกแบบก่อสร้าง จัดแสดงนิทรรศการถาวร ลำดับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีนที่ยาวนานกว่า 5 พันปี ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ทบทวน เพื่อสานต่อสัมพันธ์อันน่ายกย่อง ระหว่างไทย - จีน ให้รุ่งเรืองต่อไป
 
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี "เจ้าพ่อหลักเมือง" เป็นประติมากรรมสลักหินแบบนูนต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนารายณ์สี่กร มีอายุประมาณ 1,300 - 1,400 ปี เป็นที่เคารพสักการะของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน
 
ประมาณ 150 ปีมาแล้ว คาดว่าชาวจีนเป็นผู้พบ "เจ้าพ่อหลักเมือง" จมโคลนอยู่ริมคลองจึงได้อัญเชิญขึ้นพร้อมสร้างศาลให้เป็นที่ประทับตามหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ แสดงว่ามีเฮียกงหรือกรรมการจีนดูแลรักษาเรื่อยมา
 
เมื่อ พ.ศ.2453 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาตรวจราชการเมืองสุพรรณ ทรงสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองและประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ส่วนหนึ่งต่อมามีผู้ไปกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณ พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำรัสว่า "เข้าที่ดีหนักหนา แต่เขาห้ามไม่ไห้เจ้าไปเมืองสุพรรณบุรีว่าถ้าขืนไปจะเป็นบ้าไม่ใช่หรือ"สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไปมาแล้วไม่เห็นเป็นอะไร ยังรับราชการมาจนบัดนี้ พระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า "ไปซิ" จึงเสด็จมาเมืองสุพรรณและพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานที่คนบูชาสร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาข้างนอกเป็นเก๋งแบบจีน
 
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ จึงร่วมกับเจ้าพระยายมราช สนพระทัยในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองได้ปรับปรุงเพิ่มในราว พ.ศ.2480 ต่อมาภายหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมมาก นายบรรหาร ศิลปอาชา พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ จึงได้ปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองให้กว้างขึ้น โดยสร้างอาคารแบบจีน สิ้นงบประมาณ 20 ล้านบาทเศษ ทั้งยังได้ซื้อที่ดินบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองถวายเพิ่มอีก 7 ไร่ งบประมาณ 20 ล้านบาท
 
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง "เจ้าพ่อหลักเมือง" เป็นประติมากรรมสลักหินแบบนูนต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระนารายณ์สี่กร มีอายุประมาณ 1,300 - 1,400 ปี เป็นที่เคารพสักการะของที่พักชาวไทยเชื้อสายจีน
 
หอระฆังสัมฤทธิ์ ระฆังสำริดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง 3.47 เมตร ปากระฆังกว้าง 2.14 เมตร น้ำหนัก 3.28 ตัน
 
ศาลากลางน้ำเจ็ดชั้น ศลากลางน้ำ 7 ชั้น สูง 27 เมตร กว้าง 14 เมตร
 
ศาลาเทียนอันเหมิน เป็นสถานที่ใช้ประชุมคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองฯและใช้เป็นที่รับประทานอาหาร
 
พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร อาคารทรงมังกร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ความยาว 135 เมตร สูง 35 เมตร กว้าง 18 เมตร ภายในเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาวจีนย้อนหลังไปถึง 5,000 ปี
 
ไขปริศนา ความยิ่งใหญ่ของแผ่นดินมังกร ตื่นตาตื่นใจไปกับเทคนิคการจัดแสดงที่ทันสมัย แสง สี เสียง ตระการตา ชมประวัติ อารยธรรมจีนอันยิ่งใหญ่หนึ่งในอารยธรรมสำคัญของโลก ตำนานการกำเนิดโลก กำเนิดมนุษย์ กำเนิดปฐมอาณาจักรจีน ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ต่าง ๆ ทุกสมัย และความเป้นมาของพี่น้องชาวจีนในประเทศไทย
 
1. ห้องฉายภาพยนตร์
 
2. ห้องเทพนิยาย (กำเนิดโลก) ชาวจีนเชื่อว่าโลกถูกสร้างขึ้นโดยเทพบิดร "ผานกู่" ซึ่งสละชีวิตแยกแผ่นดินแผ่นฟ้าออกจากกัน ธรรมชาติต่าง ๆ เป็นต้นว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ ขุนเขา สายน้ำ ฯลฯ มาจากเลือดเนื้อ ร่างกายของ "ผานกู่" สรรพสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ ล้วนกำเนิดจากที่มาเดียวกัน
 
3. ห้องเทพนิยาย (กำเนิดมนุษย์) เทพธิดาหนี่วาปั้นมนุษย์ชาย - หญิงคู่แรก ซึ่งเป้นบรรพบุรุษของพี่น้องชาวจีน ขึ้นจากดินแม่น้ำเหลืองแล้วทรงชุบเสกให้มีชีวิต สืบลูกหลานต่อมาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุผลว่าทำไมชาวจีนถึงมีผิวเหลือง
 
4. ห้องตำนาน (เสินหนง) บิดาแห่งสมุนไพร เชื่อกันว่าเป็นบุคคลเดียวกับเอี๋ยนตี๋ 1 ใน 2 ปฐมกษัตริย์จีน และยังเป็นผู้ค้นพบใบชาซึ่งกลายมาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติจีนในปัจจุบัน
 
5. ห้องตำนาน (ปฐมกษัตริย์) "หวงตี้" - "เอี๋ยนตี้" 2 ผู้นำชนเผ่า ผู้ร่วมก่อร่างสร้างแผ่นดินจีน เมื่อ 5,000 ปี ที่ผ่านมา ถือเป็นปฐมกษัตริย์ที่ชาวจีนยกย่องให้เป็นบรพบุรุษ เรียกตนเองว่า "ลูกหลานเอี๋ยน - หวง"
 
6. ห้องพระราชวงศ์เซี่ย - ซาง ตำนานปลาหลีฮื้อกลายเป็นมังกร "ต้าอวี่" ผู้ค้นพบการแก้ปัญหาอุทกภัยแม่น้ำเหลืองยุคแห่งการค้นพบสำริด และอักษรกระดอกเต่าอักษรจีนยุคแรกในประวัติศาสตร์
 
7. ห้องราชวงศ์โจว ยุคแห่งนักคิด นักปราชญ์ "ร้อยสำนักประชัน" เล่าจื้อ ผุ้ให้กำเนิดลัทธิเต๋า ซุนอู่ ผู้แต่งตำราพิชัยสงคราม "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" ไซซ๊ 1 ใน 4 หญิงงามผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า "มัจฉาจมวารี" ขงจื้อ ผู้สอนให้มนุษย์ปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก คำสอนของขงจื้อยังคงอิทธิพลต่อชาวจีนถึงปัจจุบัน ฌีหยวน กวีผู้รักชาติ ต้นกำเนิดขนมบะจ่างและประเพณีการแข่งเรือมังกร
 
8. ห้องราชวงศ์ฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกในประวัติศาสตร์ผู้สร้างกำแพงเมืองจีน สิ่งก่อสร้างอันน่ามหัศจรรย์ สุสานทหารดินเผาที่เลื่องลือไปทั่วโลก ผู้ปฏิรูปให้อักษรจีน และระบบเงินตราหลากหลายรูปแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
9. ห้องราชวงศ์ฮั่น ยุคแห่งความรุ่งเรือง และความภาคภูมิใจทำให้ชาวจีนเรียกตนเองว่า "ชาวฮั่น" จุดเริ่มของศาสนาพุทะนิกายมหายานในประเทศจีน เส้นทางสายแพรไหมที่เชื่อมต่อการค้าของโลกยุคโบราณ ยุคแห่งการค้นพบกระดาษ และหวังเจาจวิน หญิงงามผู้ได้รับการเปรียบเปรยว่า "ปักษีตกนภา"
 
10. ห้องสามก๊ก จากวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์อันเป็นอมตะ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายราชวงศ์ฮั่น ช่วงที่แผ่นดินจีนแตกออกเป็นสามก๊ก นำเสนอเหตุการณ์สำคัญที่ได้รับการเล่าขานกันต่อมาไม่รู้จบยุทะนาวีที่ผาแดง "โจโฉแตกทัพเรือ"
 
11. ห้องราชวงศ์สุย ปกครองแผ่นดินจีนเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ฝากผลงานสำคัญไว้ในแผ่นดินคือการขุดคลอง "ต้าอวิ่นเหอ" นับพันกิโลเมตร ถือเป็นคลองขุดที่ยาวที่สุดในประเทศจีน เพื่อเป็นเส้นทางประพาสของฮ่องเต้ กระทั้งกลายเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญที่สุดในเวลาต่อมา
 
12. ห้องราชวงศ์ถัง ยุคแห่งความรุ่งเรือง เฟื่องฟู ตำนาน วัดเส้าหลิน แหล่งกำเนิดวิทยายุทธ์ที่สืบทอดจากปรมาจารย์ตั๊กม้อบูเชคเทียนฮ่องเต้หญิงองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน หยางกุยเฟย หญิงงามผุ้ได้รับการเปรียบเปรยว่า "มวลผกาละอายนาง"
 
13. ห้องราชวงศ์ซ่งเหนือ (เปาบุ้นจิ้น) ผู้ทรงความยุติธรรมแห่งศาลไคฟง ตำนานแห่งเครื่องประหารหัวสุนัข พยัคฆ์ และมังกร ชมการตัดสินคดีประหารราชบุตรเขยอันตื่นเต้น เร้าใจ
 
14. ห้องราชวงศ์ซ่งใต้ (งักฮุย) ขุนพลผู้รักชาติ ถูกกังฉินใส่ร้ายจนเสียชีวิตด้วยสุราพิษพระราชทาน ที่มาแห่งขนมปาท่องโก๋ หรือ "อิ้วจาก้วย" ที่ใช้แป้งเป็นสัญลักษณ์แทนกังฉินผัวเมียนำมาทอดน้ำมันขบเคี้ยวระบายความแค้น
 
15. ห้องราชวงศ์หยวน เมื่อชาวจีนถูกปกครอง โดยพวกดมองโลกอย่างกดขี่ จึงรวมตัวกันลุกฮือขึ้นต่อต้าน สอดสาส์นลับใส่ขนมเพื่อนัดหมายก่อการโค่นล้มมองโกล ตำนานที่มาแห่งขนมไหว้พระจันทร์ ชมสะพานมาร์โคโปโลสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ และหมู่บ้านจำลองที่มีอายุราว 700 ปี
 
16. ห้องราชวงศ์หมิง (เจิ้งเหอ) เจิ้งเหอ มหาขันทีผู้รับบัญชาฮ่องเต้ ผู้นำกองเรือมหาสมบัติ "เป่าฉวน" พร้อมลูกเรือกว่า 20,000 ชีวิต ออกสมุทรยาตราทั่วโลกถึง 7 ครั้ง ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเดินเรือคนสำคัญของโลก ตำนานแห่งเทพเจ้าซำปอกง
 
17. ห้องราชวงศ์หมิง (เครื่องลายคราม) เครื่องกระเบื้องเคลือบสีขาวเขียนลายน้ำเงิน เอกลักษณ์อันโดดเด่นที่รู้จักกันทั่วโลก ชมการจัดสวนสไตล์จีน และเครื่องเรือนอันงดงามด้วยศิลปะ
 
18. ห้องราชวงศ์ชิง (โรงงิ้ว - โรงฝิ่น) งิ้วหรืออุปรากรจีน เป็นศิลปะการแสดงอันงดงามวิจิตร ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนาฏศิลป์สำหรับแขนงหนึ่งของโลก ชมเหตุการณ์ปลายราชวงศ์ชิงเมื่อฝิ่นกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวจีนกลายเป็นคนป่วยแห่งเอชียตะวันออกก่อให้เกิดสงครามฝิ่นอันนำไปสู่การปล่อยเกาะฮ่องกงให้เช่านานถึง 99 ปี
 
19. ราชวงศ์ชิง (จักรพรรดิ์องค์สุดท้าย) "ปูยี" ฮ่องเต้วัย 3 ชันษา จากการแต่งตั้งของซูสีไทเฮา ฮ่องเต้องค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ผู้ปิดตำนานการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "โอรสแห่งสวรรค์" อันยาวนานกว่า 2,000 ปี
 
20. ห้องยุคสาธารณรัฐ จากซุนยัดเซ็นผู้นำการปฏิวัติ โค่นล้มระบอบฮ่องเต้ เปลี่ยนจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐมาถึงเหมาเจ๋อตุงผู้นำประเทศจีนเข้าสู่สังคมนิยม เปลี่ยนผ่านสู่เติ้งเสี่ยวผิง ผู้ปฏิวัติจีนสู่ยุค 4 ทันสมัย กระทั่งกลายเป็นมหาอำนาจของโลกประเทศหนึ่งในปัจจุบัน
 
21. ห้องชาวไทยในประเทศสยาม ประวัติความเป้นมาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย ต้นกำเนิดตระกูลแซ่ต่าง ๆ จากบรรพชนสู่อภิชาตบุตรลงหลักปักฐาน สร้างฐานะเป็นปึกแผ่นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ความภาคภูมิใจของลูกหลานพันธุ์มังกร
 
การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว มีเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือใช้ถนนรัตนาธิเบศร์ ที่เชื่อมกับวงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) ไปทางอำเภอบางบัวทอง จากนั้นเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุทธยาเข้าสู่เขตจังหวัดสุพรรณบุรีที่อำเภอบางปลาม้า ถนนเข้าเมืองสุพรรณบุรี เป็นถนนสี่เลนกว้างขวางและสะอาดตา
 
รถโดยสารประจำทาง สามารถใช้บริการของรถโดยสารประจำทาง ซึ่งออกจากสถานีขนส่งหมอชิต (ถนนกำแพงเพชร) และสถานีขนส่งสายใต้ (ถนนบรมราชชนนี) ทุกวัน
 
รถไฟ ถ้าต้องการบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีขบวนรถไฟไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี รถออกเวลา 16.40 น. ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
 
รถสองแถว (บริการเฉพาะภายในตัวเมืองสุพรรณ) การเดินทางในตัวเมืองสุพรรณมีรถสองแถวให้บริการ โดยขึ้นบริเวณสี่แยกนางพิม หากต้องการเดินทางออกนอกตัวเมืองติดต่อสอบถามที่คิวรถบริเวณสี่แยกนางพิมได้เลย
 
ข้อปฏิบัติ ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของพิพิธภัณฑ์อย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
- ไม่หยอกล้อหรือเล่นกันภายในพิพิธภัณฑ์
- ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นภายในพิพิธภัณฑ์
- ไม่นำอาหารเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์
- ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์
- ไม่หยิบจับของภายในพิพิธภัณฑ์
 
เบอร์โทรสำคัญ
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย Call Center 1672
- ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี  โทร. 0 3553 6030
- ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี : พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร โทร. 0 3552 6211
- ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0 3540 8220, 0 3553 8200
- สำนักงานจังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0 3553 5376
- เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โทร. 0 3551 1987, 0 3551 1021
- สถานีขนส่งสายใต้  โทร. 0 2894 6122
- สถานีขนส่งสุพรรณบุรี  โทร. 0 3552 2373
- สถานีรถไฟสุพรรณบุรี  โทร. 0 3551 1950

ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก

พิพิธภัณฑ์ กลุ่ม: พิพิธภัณฑ์

ปรับปรุงล่าสุด : 7 ปีที่แล้ว

แผนที่พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร (อุทยานมังกรสวรรค์)

อัลบั้มรูป

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์(2)

แลนด์มาร์ก และอนุสรณ์สถาน แลนด์มาร์ก และอนุสรณ์สถาน(4)

ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี(2)

พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์(5)

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ

ไร่ สวนเพื่อการศึกษา ไร่ สวนเพื่อการศึกษา(4)

ศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ฝึกอบรม(2)

มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

วัด วัด(36)

สถานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ สถานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ(4)

วิถีชีวิต วิถีชีวิต

หมู่บ้าน ชุมชน หมู่บ้าน ชุมชน(7)

ตลาดท้องถิ่น ตลาดท้องถิ่น(7)

ตลาดน้ำ ตลาดน้ำ(1)

ธรรมชาติ และสัตว์ป่า ธรรมชาติ และสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล(4)

ดอย และภูเขา ดอย และภูเขา(2)

เขื่อน พื้นที่อนุรักษ์ ทะเลสาบ เขื่อน พื้นที่อนุรักษ์ ทะเลสาบ(3)

ถ้ำ ถ้ำ(1)

อ่าว และชายหาด อ่าว และชายหาด(1)

บันเทิง และท่องเที่ยวเชิงเกษตร บันเทิง และท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ฟาร์ม, ไร่, สวน, สวนสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฟาร์ม, ไร่, สวน, สวนสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(6)

โรงละคร โรงละคร(1)