Rating: 3.8/5 (10 votes)
ผาวิ่งชู้
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ผาวิ่งชู้ เที่ยวเชียงใหม่ เที่ยวภาคเหนือ ภูเขา ดอย ตั้งอยู่ที่บ้านดงดำ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ การเข้าถึงสามารถใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฮอด เมื่อถึงฮอดแล้วให้ตรงไปเส้นทางฮอด-นาลุง ซึ่งจะผ่านบ้านฮอดหลวง บ้านดงดำ โดยเมื่อเลยบ้านฮอดหลวงมาประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้าย ข้ามสะพานแล้วถึงบ้านดงดำ เมื่อเลยบ้านดงดำไป 1 กิโลเมตร
จะมีทางแยกซ้ายตรงเข้าสู่จุดชมวิวผาวิ่งชู้ หรือจะใช้เส้นทางฮอด-ดอยเต่า สาย 1103 ออกจากฮอดไปประมาณสิบห้ากิโลเมตร หรือเลยกิโลเมตรที่ 53 เล็กน้อยจะมีทางแยกขวาเข้า ไปบ้านดงดำ วิ่งไป 3 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาเข้าถนนกรวด วิ่งไปประมาณ 1 กิโลเมตร
จะถึงจุดชมวิวผาวิ่งชู้ ด้านนี้เป็นด้านที่อยู่บนสันของหน้าผาผาวิ่งชู้ ซึ่งจะมองเห็นแท่งหินสวยงาม แต่ถ้าประสงค์จะดูด้านที่เป็นหน้าผา ซึ่งสามารถเห็นรอยเลื่อนได้ ให้ใช้เส้นทางฮอด-นาลุง โดยพอถึงบ้านฮอดหลวงให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางเล็ก ๆ ที่มีอยู่มากมาย พยายามยึดเส้นทางเข้าหาริมแม่น้ำปิงเข้าไว้จะไปถึงหน้าผาได้
ลักษณะของแหล่ง ผาวิ่งชู้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน เมื่อหันหน้าไปตามทิศทางน้ำไหล หรือทางทิศใต้จะอยู่ทางด้านริมฝั่งซ้ายของลำน้ำปิง หน้าผามีความยาว 250 เมตร และมีความสูง 25 เมตร วางตัวเอียงเทลาดลงไปในทิศตะวันตก
ในขณะที่ริมฝั่งด้านขวาเป็นพื้นที่ราบ จุดที่สวยงามและมีชื่อเสียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่บนหน้าผา เมื่อมองจากจุดชมวิว จะเห็นเป็นแท่งเสาหินยอดแหลมตั้งตรงตระหง่านขึ้นจากพื้น บางเสามีมวลหินรูปร่างแปลก ๆ วางอยู่บนยอด เบื้องหลังเป็นพื้นที่ราบริมฝั่งน้ำปิงกว้างไกลและแลเห็นเทือกเขาดอยปุยหลวงอยู่ลิบ ๆ
ธรณีวิทยาผาวิ่งชู้ ภูมิประเทศของผาวิ่งชู้ เป็นลักษณะของธรณีสัณฐาน (Geomorphology) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผุพังอยู่กับที่ (Weathering) การกร่อน (Erosion) และการยกตัวของรอยเลื่อนปกติ (Normal fault) โดยรอยเลื่อนวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก รอยเลื่อนเอียงเทไปทางทิศเหนือ มวลหินด้านเหนือของแนวรอยเลื่อน เลื่อนตัวลง
ในขณะที่มวลหินทางด้านใต้ของแนวรอยเลื่อนเลื่อนตัวขึ้น จนทำให้เกิดตะพัก (Terrace) เกิดการกร่อนในภายหลังทำให้ริมฝั่งด้านผาวิ่งชู้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน ในขณะที่ตะพักฝั่งตรงข้ามหน้าผาเป็นที่ราบ หินที่ประกอบกันเป็นหน้าผาประกอบด้วย ชั้นหินทรายแป้ง (Siltstone) หินทราย (Sandstone) และหินกรวดมน (Conglomerate) แทรกสลับกัน
หินส่วนล่างมีการประสานตัวของตะกอนดีกว่าส่วนบนซึ่งยังไม่แข็งตัว ชั้นหินมีอายุยุคเทอร์เชียรี (65-1.8 ล้านปี) และ ควอเทอร์นารี (1.8 ล้านปี-ปัจจุบัน) ตามลำดับ การวางตัวของชั้นหินสองอายุเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง เห็นได้จากรอยชั้นไม่ต่อเนื่องเชิงมุม (Angular unconformity) ซึ่งพบได้จากชั้นหินชุดอายุแก่วางเอียงตัวทำมุมกับชั้นหินชุดอายุอ่อนที่วางตัวตามแนวราบปิดทับข้างบน
ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า เมื่อชั้นหินอายุแก่สะสมตัวเรียบร้อยแล้ว ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินเอียงตัว เกิดการกร่อน และสุดท้ายจึงเกิดยุบตัวเป็นแอ่งแล้วหินอายุอ่อนสะสมตัวบนชั้นหินอายุแก่กว่าอีกครั้งหนึ่ง
โดยเหตุที่ผาวิ่งชู้ประกอบด้วย ชั้นหินซึ่งมีทั้งที่ยังไม่แข็งตัว กับส่วนที่แข็งตัวแล้ว แต่เนื้อหินมีการประสานตัวไม่ดีนัก ประกอบกับการมีสภาพเป็นพื้นที่สูง ดังนั้นธรรมชาติ โดยลม ฝน น้ำ ได้กัดเซาะให้ตะกอนที่จับตัวเป็นหินหลุดแยกออกจากกัน โดยเฉพาะแนวหน้าผา
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการเปรียบเทียบตำแหน่งของรั้วจากรั้วเดิมที่สร้างไว้กันตก กับรั้วที่สร้างใหม่ที่จุดชมวิว รั้วที่สร้างขึ้นใหม่ต้องถอยร่นห่างจากหน้าผาออกมาเรื่อย ๆ เพราะหินเดิมที่ริมหน้าผาทรุดตัว พังทะลายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการวางแผนจัดการใด ๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่จึงควรต้องมีการศึกษาอัตราการกัดเซาะของหน้าผาในแต่ละปี เพื่อคำนวณว่าควรจะปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างได้ใกล้หรือไกลหน้าผาเพียงใด
หมวดหมู่: ธรรมชาติ และสัตว์ป่า
กลุ่ม: ดอย และภูเขา
ปรับปรุงล่าสุด : 4 เดือนที่แล้ว