อ่างทอง
จำนวน : 284,970คน
คำขวัญ :พระสมเด็จเกศไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรชนใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
จังหวัดอ่างทอง เป็นจังหวัดในประเทศไทยเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปกลับได้ภายในวันเดียว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้าน
ปัจจุบันอ่างทองอุดมไปด้วยงานหัตถกรรมท้องถิ่น ทั้งงานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทำกลอง การทำอิฐดินเผา และการผลิตเครื่องจักสาน เป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก และเต็มไปด้วยวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความสวยงามน่าสนใจมากมายกว่าถึงกว่า 200 วัด
จังหวัดอ่างทองมีเนื้อที่ประมาณ 968.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 605,232.5 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 71 ของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และความยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การปลูกข้าว ทำไร่ ทำนา และทำสวน มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านอำเภอไชโย อำเภอเมืองฯ และอำเภอป่าโมก รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร
บริเวณจังหวัดอ่างทองในปัจจุบันนี้ สันนิษฐานว่าเคยมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเป็นชุมชนเมืองขนาดย่อมตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีหลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือคูเมือง ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ต่อมาในสมัยสุโขทัย เมืองอ่างทองได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมจากสุโขทัยมาด้วย โดยจะเห็นได้จากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในจังหวัด ที่มีลักษณะเป็นศิลปะแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณปี พ.ศ. 2127 อ่างทองถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ชื่อ “แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน้อย ต่อมากระแสน้ำในแม่น้ำน้อยเปลี่ยนทิศไป การคมนาคมระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้ไม่สะดวก เมืองจึงถูกย้ายไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยา และเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองฯ จังหวัดอ่างทอง มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนเมืองวิเศษชัยชาญยังคงเป็นเมืองมาจนถึงปี พ.ศ. 2439 จึงลดฐานะลงเป็นอำเภอ เรียกว่า “อำเภอไผ่จำศีล” ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอวิเศษชัยชาญ” จนถึงปัจจุบัน
เมืองอ่างทองมีพื้นที่ติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน และเนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของชาวเมืองอ่างทองสร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง อำเภอแสวงหา และที่สำคัญคือนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล เมืองวิเศษชัยชาญ ที่ได้ร่วมกับชาวบ้านเมืองวิเศษชัยชาญอีกกว่า 400 คน ออกสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจัน นับเป็นวีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทย ที่ประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่วัดวิเศษชัยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอกและนายทองแก้ว โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 ทางจังหวัดอ่างทองจึงได้ถือเอาวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี เป็นวันทำพิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมกล้าหาญของท่าน นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบันจังหวัดอ่างทองแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอแสวงหา อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอสามโก้