Rating: 3.3/5 (11 votes)
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เที่ยวเชียงใหม่ เที่ยวภาคเหนือ โครงการหลวง โครงการพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ การทำไร่เลื่อยลอย การปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาไม่เฉพาะในท้องถิ่นแห่งนั้น
จึงทรงมีพระราชประสงค์ ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 150 ไร่ ซึ่งเป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานด้านวิจัยค้นคว้าข้อมูล ซึ่งเป็นแนวทางที่จะนำเอาผลจากการวิจัยมาส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกร
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ มีลักษณะพื้นที่เป็นหุบเขาลาดชัน โดยแนวเขาที่ทอดไปในแนวเขาสันปันน้ำเป็นได้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองทิศทาง คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งด้านตะวันออกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำปิง และด้านตะวันตกได้ผันน้ำลงสู่แม่น้ำแจ่ม อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1, 300 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ย 21 องศาเซลเซียส
กิจกรรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมแปลงพืชผักเมืองหนาว ไม้ดอก ผักไฮโดรโพนิกส์ และงานวิจัยพืชเมืองหนาว
สวนแปดสิบพรรษา สวนเฉลิมพระเกียร นั้นจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2550 โดยเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ซึ่งภายในสวนตกแต่งด้วยกุหลาบพันปี และไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาล
โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน แหล่งเก็บรวบรวมพันธุ์เฟินหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและพืชสวน รวบรวมพันธุ์เฟินไว้กว่า 50 สกุล 140 ชนิด
โรงเรือนจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่างๆ ของมูลนิธิโครงการหลวงเช่น กล้วยไม้ บีโกเนีย หน้าวัว เปลวเทียน ฯลฯ
โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง พิงกุย ซาราซีเนียชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศบนพื้นที่สูง
สวนกุหลาบพันธุ์ปี รวบรวมพืชสกุล Rhododendron เช่น อาซาเลีย (Azalia)
และกุหลาบพันปีชนิดต่างๆ หลายชนิด ซึ่งนับเป็นพืชการค้าในต่างประเทศและหลายชนิดได้ขยายพันธุ์มาจากต้นที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น คำแดง หรือคำดอย (Rhododendron arboreum) ซึ่งมีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูงของประเทศไทย เช่น ดอนอินทนนท์ และดอยอ่างขาง
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
หมู่บ้านม้งขุนกลาง ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง การแต่งกาย การละเล่น เลือกซื้อจับจ่ายสินค้าและงานหัตถกรรมที่ตลาดม้ง
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จุดสูงสุดในประเทศ 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชมพืชพรรณไม้ป่าดิบเขา มอส ไลเคน และแหล่งดูนกนานาชนิด
พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ตั้งอยู่ กม.ที่ 41 เมื่อ พ.ศ.2530 กองทัพอากาศสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญ พระชนมพรรษา 5 รอบ สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของชั้นเขา และสวนดอกไม้โดยรอบ
น้ำตกวชิรธาร นั้นตั้งอยุ่อยู่ กม.ที่ 20 โดยเป็นน้ำตกสูง 80 เมตร ที่ตกจากหน้าผา
น้ำตกสิริภูมิ / สวนหลวงสิริภูมิ จะอยู่ภายในสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ โดยบริเวณหน้าน้ำตกสิริภูมิมีสวนธรรมชาติตกแต่งด้วยพรรณไม้ โดยตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะประมาณ 500 เมตร เรียกว่า “ สวนหลวงสิริภูมิ ” สามารถเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี
ของฝากของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์โครงการหลวง เช่น ผักและผลไม้เมืองหนาวตามฤดูกาล, กาแฟดอยคำ, น้ำผึ้ง, แยมเคปกูสเบอร์รี่, น้ำเสาวรส, น้ำบ๊วย, ไม้ดอกไม้ประดับ, ไม้กระถาง และดอกไม้แห้ง ฯลฯ
งานหัตกรรมผ้าทอชาวเขา นั้นได้แก่ ผ้าทอมือต่าง ๆ ที่มีการแปรรูปเป็นผ้าถุง, ย่าม, เสื้อ, ผ้าพันคอ และผ้าปูโต๊ะ ฯลฯ
ที่พัก บ้านพักรับรองภายในสถานีฯ บ้านพักสิริภูมิเอ จำนวน 6 หลัง พักได้หลังละ 5 ท่าน บ้านสิริภูมิบี จำนวน 14 หลัง 28 ห้อง พักได้ห้องละ 2 ท่าน และเรือนนอนจำนวน 2 ห้อง พักได้ห้องละ 4 ท่าน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สอบถามและสำรองห้องพักได้ที่ 053-286-773-7
มีสถานที่กางเต็นท์ และบริการเช่าเต็นท์พร้อมถุงนอน ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ที่พักแบบวิลเลจสเตย์และโฮมสเตย์ ที่ได้รับมาตรฐาน ที่บ้านแม่กลางหลวง ติดต่อศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กลางหลวง คุณสมศักดิ์ 081-960-8856
ร้านอาหาร มีร้านอาหารสโมสรอินทนนท์ บริการนักท่องเที่ยว หากมาเที่ยวชมกันเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า เพื่อการเตรียมการเรื่องอาหารและการอำนวยเรื่องความสะดวก
เมนูแนะนำ ปลาเทราต์นึ่งเซเลอรี่ ปลาเทราต์รมควัน เมี่ยงปลาเทราต์กระทงทอง สลิดปลาเทราต์ย่าง ซุปกระดูกปลาสเตอร์เจียน สลัดผักอินทนนท์ สลัดสเตอร์เจียนรมควัน ข้าวผัดดอยคำ กุ้งก้ามแดงราดซอสมะขาม ต้มยำกุ้งก้ามแดงผัดแห้ง เห็ดออรินจิย่างยำตะไคร้ เป็ดอบกาแฟดอยคำ ซี่โครงหมูอบหมั่นโถ
การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-ฮอด ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 จนถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57 ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอจอมทอง ประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นจะมีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์
ไปตามเส้นทางสายนี้จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 31 มีทางแยกขวามือบ้านขุนกลาง เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ รวมระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงสถานีฯ 91 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที การเดินทางสามารถใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เลขที่ 202 บ้านขุนกลาง หมู่ 7 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160 โทร. 053-286-777-8 โทรสาร 053-286-779 หรือ 080-769-1944
ประชาสัมพันธ์สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ 081-952-2012
หมวดหมู่: โครงการในพระราชดำริ
กลุ่ม: โครงการหลวง
ปรับปรุงล่าสุด : 4 เดือนที่แล้ว