
วัดตำหนัก (แม่เหียะ)




สถานที่ท่องเที่ยวเชียงใหม่
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดตำหนัก เที่ยวเชียงใหม่ เที่ยวภาคเหนือ วัดในเชียงใหม่ วัดภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนัก ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ทางทิศใต้ของสนามบินเชียงใหม่ วัดนี้เข้าได้ 2 ทาง เส้นทางแรกจากถนนสมโภช 700 ปี เชียงใหม่ อีกเส้นทางหนึ่งคือถนนเชียงใหม่-หางดง มีป้ายบอกทางชัดเจน
วัดแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นสมัยใด แต่พอจะเทียบเคียงหลักฐานจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาของพระสิริมังคลาจารย์ หนังสือพงศาวดารโยนก และชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ได้กล่าวถึงวัดตำหนักในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป โดยมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน
สันนิษฐานว่าอาจสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2050 ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์พระองค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า “วัดเวฬุวนาราม” หมายถึงป่าไผ่ ตั้งอยู่ทางทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ของนครเชียงใหม่ พระองค์เคยเสด็จไปบรรจุพระบรมธาตุ ณ พระเจดีย์ของวัดเวฬุวนารามนี้ในปี พ.ศ. 2062
ข้อความท้ายคัมภีร์ของพระสิริมังคลาจารย์ พระปราชญ์แห่งล้านนาไทย เขียนไว้ว่าท่านอยู่ที่วัดสวนขวัญห่างจากวัดพระสงฆ์ไปทางทิศใต้ 1 คาวุต (ประมาณ 4 กิโลเมตร)
ในปี 2339 พระเจ้ากาวิละ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตน ทรงยกทัพมาพักแรมในบริเวณนี้ ข้าราชบริพารได้สร้างพลับพลาที่ประทับถวายบริเวณที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ซึ่งชาวเชียงใหม่เรียกว่าพลับพลานั้นว่า “ตำหนัก” ผู้คนจึงเรียกหมู่บ้านแถบนี้ว่า “หมู่บ้านตำหนัก” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตวัดนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ทั้งเวฬุวัน สวนขวัญ ตำหนัก และสิริมังคลาจารย์ ดังนั้นจึงมีการนำชื่อต่างๆ มารวมกันเป็นชื่อเดียวว่า “วัดตำหนักสวนขวัญสิริมังคลาจารย์” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัดตำหนัก”
ซุ้มประตูโขงอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลังใหม่ มีขนาดใหญ่มาก และยังคงความสมบูรณ์อยู่ สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคเริ่มสร้างวัด อีกทั้งยังมีแนวกำแพงโบราณปรากฏอยู่ข้างๆ ซุ้มประตูอีกด้วย
พระวิหารหลังใหม่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา หน้าบันมีลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และธรรมจักร ผนังด้านหน้ามีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ บานประตูเป็นงานแกะสลักไม้รูปพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ สวยงามมาก
หอไตร ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหารหลังใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมล้านนา ความรู้สึกแรกที่เห็นนึกถึงหอไตรวัดพระสิงห์เลย เพราะคล้ายกันมากๆ ทั้งขนาด การตกแต่ง และลายปูนปั้นรูปเทวดาที่อยู่โดยรอบหอไตร คาดว่าน่าจะใช้หอไตรวัดพระสิงห์เป็นต้นแบบ
อนุสาวรีย์พระสิริมังคลาจารย์ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงท่านที่เคยมาพำนักที่วัดแห่งนี้
พระอุโบสถ สถาปัตยกรรมล้านนา มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด ได้รับการบูรณะต่อเนื่องเรื่อยมา โดดเด่นด้วยลายปูนปั้นละเอียดอ่อนช้อย เป็นรูปมกรคายนาคที่น่าเกรงขาม
พระเจดีย์ ศิลปะพม่าสร้างขึ้นครอบองค์เดิมในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จ 3 ชั้น โดยที่บริเวณมุมของชั้นแรกเป็นเจดีย์บริเวณ ส่วนอีกสองชั้นมีลักษณะคล้ายพานพุ่ม ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์หุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ปล้องไฉนประดับด้วยกระจกสี ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น
พระวิหารโบราณ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัด ข้างพระอุโบสถ สร้างขึ้นในช่วงที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนาที่เก่าแก่มาก ช่อฟ้า และนาคสะดุ้งทำจากไม้ หลังคามุงด้วยแผ่นปูนบางๆ วางเรียงกัน หน้าบันเป็นงานไม้แกะสลักนูนต่ำลวดลายพรรณพฤกษาที่ยังคงความสมบูรณ์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือชาวบ้านอยู่หลังพระประธาน
นับได้ว่าวัดตำหนักเป็นวัดเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน ปรากฏร่องรอยโบราณสถานที่หลงเหลือมาจากยุคพม่าปกครองเมือง ซึ่งมีความสวยงามคลาสสิก ผสมผสานกับปูชนียสถานที่สร้างขึ้นใหม่ และยังเป็นที่พำนักของพระสิริมังคลาจารย์ ปราชญ์แห่งล้านนาอีกท่านหนึ่ง เพราะสร้างคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาไว้มากมาย




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
ภูมิภาค
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
วัด(1270)
|