Rating: 3.5/5 (12 votes)
อนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
อนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา เที่ยวเชียงใหม่ เที่ยวภาคเหนือ เป็นอนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา ซึ่งเป็นพระราชบุตรพระเจ้าฝางและพระนางสามผิวเจ้าเมืองฝาง ได้อพยพผู้คนจำนวนหนึ่งมาสร้างเมืองแม่อาย ซึ่งเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์
เจ้าแม่มะลิกาได้รักษาและปกป้องรักษาเมืองแม่อายจากข้าศึกไว้ให้ลูกหลานชาวแม่อายได้อยู่จนทุกวันนี้ ชาวอำเภอแม่อายจึงได้สร้างอนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา ไว้เพื่อน้อยรำลึกถึงพระคุณขององค์เจ้าแม่มะลิกา และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวอำเภอแม่อาย ได้เป็นอย่างดี
แม่อาย ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อนี้จากละครชื่อดังในอดีต ชื่อว่า “แม่อายสะอื้น” แต่ตามตำนานกล่าวว่า ในอดีต ณ เมืองฝาง (อำเภอฝางปัจจุบัน) ผู้ปกครองเมืองฝางนามว่า พระเจ้าฝางและพระชายา นามว่าพระนางสามผิว เป็นผู้ที่มีผิวกายงดงามสามเวลา ดั่งดอกไม้สามชนิด คือ ดอกมะลิ, ดอกบัว และดอกกุหลาบ ทั้งสองพระองค์ได้ให้กำเนิดบุตรี นามว่า หนูน้อยมะลิกา โดยพระธิดาองค์นี้มีผิวกายที่งดงามดั่งเช่นพระมารดา แต่มีตำหนิ คือ ริมพระโอษฐ์แหว่ง (ปากแหว่ง)
ครั้นต่อมา พระนางมะลิกา ได้โตเป็นสาวมีชันษาได้ 18 ปี ทรงมีพระสิริโฉมงดงาม มีชื่อเสียงลือกระฉ่อนทำให้มีราชบุตรต่างเมืองมากมายมาสู่ขอ แต่พระนางไม่สนพระทัยและไม่พบปะผู้ใด ด้วยเหตุที่เกรงว่าจะเห็นตำหนิของพระนางที่ใบหน้า พระเจ้าฝาง ผู้เป็นราชบิดาจึงได้สร้างเมืองให้ใหม่ ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองฝาง สร้างเสร็จราวปี พ.ศ. 2150 (เทียบกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ)โดยตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า เวียงมะลิกา ตามชื่อของราชธิดา ซึ่งภายในเวียงมะลิกาประกอบด้วยสวนหลวง คุ้มหลวง คูน้ำ ป้อมปราการ 4 ทิศ พร้อมประตูทั้ง 4 ด้าน และที่สำคัญคือเวียงแห่งนี้ไม่มีบุรุษเพศเลยแม้แต่คนเดียว ผู้คนล้วนแต่เป็นสตรีทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสตรีรูปร่างกำยำคอยปกป้องเวียงมะลิกา โดยมีพระนางมะลิกาทรงฝึกฝนพลธนูด้วยพระองค์เอง ซึ่งทำให้เวียงมะลิกามีชื่อเสียงการยิงธนูที่ว่าแม่นนักดั่งจับวาง จนเป็นที่ลือชากึกก้องระบือไกล
เรื่องราวมาเข้าหูของราชบุตรเวียงภูก่ำ แคว้นไทใหญ่ ทำให้อยากประสบพบเจอกับพระนางมะลิกาผู้เลอโฉม แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นจึงเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย โดยข่าวการเสด็จของราชบุตรไทใหญ่ทราบถึงพระนางมะลิกา พระองค์ก็ทรงเกิดเขินอายไม่กล้าให้เข้าพบ ในวันที่ราชบุตรเข้าเฝ้าถวายอัญมณี โดยพระนางจึงเสด็จหลีกลี้ไปสรงน้ำลำห้วย และได้ให้พระพี่เลี้ยงในเวียงรับเสด็จแทน โดยเมื่อราชบุตรในรูปของพ่อค้าเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าพระนางไม่ทรงปรารถนาให้ชายใดเข้าพบ พ่อค้าจึงจำต้องลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงน้ำอยู่ในลำห้วยจึงเกิดทรงละอายพระทัย ต่อมาชาวบ้านต่างเรียกลำห้วยแห่งนั้นว่า "แม่น้ำอาย" หรือ "แม่อาย" มาจนปัจจุบัน
อีกสันนิษฐานหนึ่งว่ากันว่า จากที่ราชบุตรได้เห็นพระพักตร์ของพระนางมะลิกา แล้วได้ตกใจกับตำหนิที่บริเวณปาก จึงทำให้ราชบุตรผงะหนีจากไป พระนางจึงเกิดความเสียใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นก็ไม่ยอมออกไปพบปะผู้คน อาศัยอยู่แต่ภายในเวียง จึงเป็นที่มาของคำว่า “แม่อาย” จากตำนานดั่งกล่าว ต่อมากระทรวงมหาดไทยจึงนำมาตั้งเป็นชื่อ “อำเภอแม่อาย”
วีรกรรมของพระนางได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2172 ทัพพม่ายกเข้าตีเมืองฝาง โดยพระนางมะลิกาได้ยกไพร่พลสตรีผู้เก่งกล้าเข้าต่อสู้กับพม่า ช่วยพระราชบิดาต้านทานได้นานถึง 3 ปี จนในที่สุดก็ต้านไม่ไหวเพราะมีกำลังพลที่น้อยกว่า พระเจ้าฝางและพระชายาสิ้นพระชนม์ โดยที่ส่วนพระนางมะลิกาได้พาไพร่พลที่เหลือกลับไปที่เวียงมะลิกา ครองเวียงอยู่ได้ 40 ปี ได้ทรงสวรรคตในปี พ.ศ. 2190 รวมพระชนมายุได้ 58 ปี และต่อมาได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์พระนางมะลิกาขึ้นบริเวณที่ตั้งของศาลหลักเมืองแม่อาย เพื่อระลึกถึงวีรกรรมคุณงามความดีของพระนาง เพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอแม่อายและบุคคลทั่วไปมาตราบจนทุกวันนี้
ปัจจุบันนั้นบริเวณเมืองโบราณ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลแม่อาย ห่างจากที่ว่าการ อำเภอแม่อาย โดยจะมีทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กม.ที่ 16.50 ลัดเลาะทางเข้าไปจะพบเห็นคูเมือง และอิฐกำแพงดิน โดยชาวบ้านย่านนั้นถือว่าเป็นเขตโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชน ผู้เชื่อและศรัทธา ใน “พระนางมะลิกา” และพากันไปกราบไหว้ บวงสรวงทั้งที่พระราชานุสาวรีย์แห่งแรก ตั้งอยู่ใน โรงเรียนแม่อายวิทยาคม ซึ่งในอดีตเชื่อว่าเคยเป็นเวียงสนธยา หรือเวียงมะลิกา โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวง และสรงน้ำเจ้าแม่มะลิกา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์
ปรับปรุงล่าสุด : 4 เดือนที่แล้ว