มวยไทย

ประวัติศาสตร์มวยไทย

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมาอย่างยาวนาน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมานาน มวยไทยนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดให้จัดการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่ง โดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากทั่วทุกภาคมาประชันแข่งขันกัน ในขณะนั้นบรรจุการสอนมวยไทยเป็นวิชาบังคับในโรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษาอีกด้วย ต่อมามีการกำหนดกรอบกติกาการชกมวยและจัดตั้งเวทีมวยที่เป็นมาตรฐานสากลแห่งแรก นั้นคือเวทีมวยลุมพินี และเวทีมวยราชดำเนิน

มวยไทย เริ่มมี และใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า หรือบางตำรา อาจใช้ศีรษะโจมตี หรือปั้นท้ายกระแทกโจมตี เรียกว่า ทศอาวุธ โดยหากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยปรากฏศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ทั่วทุกภูมิภาคและมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น มวยท่เสาของภาคเหนือ, มวยไชยาของภาคใต้, มวยโคราชของภาคอีสาน และมวยพระนครของภาคกลาง เป็นต้น

มวยไทย

ในสมัยโบราณ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วนค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน-ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่น ๆ

มวยไทย

เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย คือ กางเกง ซึ่งในสมัยก่อน ไม่มีกางเกง ที่ใช้สวมใส่เฉพาะ เวลาขึ้นชกมวย ส่วนมากนักมวยจะสวม กางเกงขาสั้น ยาวประมาณแค่เข่า เป็นกางเกง ที่ใช้โดยทั่วไป ในชีวิตประจำวัน ตัวกางเกงไม่มีขอบกางเกง ใช้ผ้าขาวม้าพัน ให้หนาคาดทับ ระหว่างขาใช้แทนกระจับ และคาดเอว เพื่อให้กางเกงไม่หลุดเวลาขึ้นชก

นักมวย สมัยก่อน อาจมีการใส่ เสื้อยันต์ ที่ใช้ผ้าดิบสีแดง หรือสีขาว ตัดเป็นเสื้อกั๊ก คอกลมแขนกุด เขียนอักขระเลขยันต์ และรูปภาพต่าง ๆ ใช้สวมทับ เสื้อชนิดอื่น หรือสวมเพียงตัวเดียว เพราะเชื่อว่า จะช่วยป้องกันศาสตราวุธทุกชนิด แต่ส่วนใหญ่ เวลาชกมวย มักไม่ค่อยสวมเสื้อยันต์ แต่จะใช้เครื่องรางชนิดอื่นแทน

การไหว้ครูมวยไทย

การไหว้ครูมวยไทย เป็นการร่ายรำในกีฬามวยไทยเพื่อแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณ และความเคารพต่อครูมวย เป็นประเพณีไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เช่นเดียวกับวิชาการหลายแขนงของไทย ที่มักทำการไหว้ครูก่อน และให้มีการสวมมงคลขณะทำการร่ายรำไหว้ครู เนื่องจากถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์

บิดาแห่งมวยไทย การสถาปนาวันมวยไทย เราจะยึดตามวันเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเสือ ซึ่งตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2245 เนื่องจากพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านมวยไทย ทำให้มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งยังทรงผลักดันการชกมวยไทยให้เป็นที่แพร่หลายจนมีระบบการคัดเลือกชายฉกรรจ์มาฝึกมวยไทยในราชสำนึก และทรงเป็นพระอาจารย์ด้วยพระองค์เอง ส่งผลให้ในยุคนั้นมีนักมวยที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น นายขนมต้ม และพระยาพิชัยดาบหัก

การไหว้ครูและร่ายรำ เริ่มที่กราบ 3 ครั้ง เพื่อระลึกถึงบิดา, มารดา, ครู ,อาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอพรพระคุ้มครองให้ชนะ ด้วยความปลอดภัยที่สุด แล้วร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบฉบับของครูที่สอนไว้ให้ ดนตรีจะบรรเลงจังหวะช้า ซึ่งเป็นศิลปที่แตกต่างจากชาติใด ๆ เป็นจุดที่น่าสนใจมาก และแสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติด้วย

นักมวยไทยทุกคน จะต้องสวมมงคลที่ศีรษะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องสวมตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครู และร่ายรำจะถอดออกจากศีรษะเมื่อทำการแข่งขัน

นายขนมต้ม

นายขนมต้ม ปรากฏครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน โดยกล่าวว่า ฝ่ายพระเจ้าอังวะยังอยู่ ณ เมืองย่างกุ้ง ทำการยกฉัตรยอดพระมหาเจดีย์เกษธาตุสำเรจ์แล้วให้มีการฉลอง จึงขุนนางพม่ากราบทูลว่า คนมวยเมืองไทยมีฝีมือดียิ่งนัก จึ่งตรัสสั่งให้จัดหามาได้นายขนมต้มคนหนึ่ง เป็นมวยดีมีฝีมือแต่ครั้งกรุงเก่า เอาตัวมาถวายพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งให้จัดพม่าคนมวยเข้ามาเปรียบกับนายขนมต้มได้กันแล้ว ก็ให้ชกกันหน้าพระธินั่ง และนายขนมต้มชกพม่าไม่ทันถึงยกก็แพ้ แล้วจัดคนอื่นเข้ามาเปรียบชกอิก นายขนมต้มชกพม่าชกมอญแพ้ถึงเก้าคนสิบคนสู้ไม่ได้ พระเจ้าอังวะทอดพระเนตรยกพระหัตถ์ตบพระอุระตรัสสรรเสรีญฝีมือนายขนมต้มว่า ไทมีพิศม์อยู่ทั่วตัว แต่มือเปล่าไม่มีอาวุธเลยยังสู้ได้ คนเดียวชณะถึ่งเก้าคนสิบคนฉนี้ เพราะจ้าวนายไม่ดีจึ่งเสียบ้านเมืองแก่ข้าศึก ถ้าจ้าวนายดีแล้วไหนเลยจะเสียกรุงศรีอยุทธยา แล้วพระราชทานรางวัลแก่นายขนมต้มโดยสมควร นอกจากนี้ ชาวพระนครศรีอยุธยาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก เป็นขุนนางในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี มีความสามารถและชื่อเสียงอย่างยิ่งทั้งทางเชิงมวย และเชิงดาบ ปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารเนื่องจากเป็นทหารเอกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นผู้มีส่วนกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ข้าศึกยกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" ดังนั้นชาวไทยจึงต่างพากันยกย่องในฝีมือทั้งเพลงมวย และเพลงดาบ


มวยไทยแต่ละยุคสมัย

มวยไทยแต่ละยุคสมัย

มวยไทยเกิดขึ้นในสมัยใดไม่แน่ชัด เท่าที่มีหลักฐานพบว่ามวยไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกับชาติไทย เพราะถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติของไทยเราจริง ๆ ยากที่ชาติอื่นจะเลียนแบบได้ ซึ่งมวยไทยแต่ละยุคอาจแบ่งได้ดังนี้

- มวยไทยสมัยกรุงสุโขทัย ในยุคสมัยของกรุงสุโขทัย ศิลปะ แม่ไม้ มวยไทย ถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของกษัตริย์ เพื่อฝึกให้กษัตริย์กลายเป็นนักรบที่มีความกล้าหาญ มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม ดังที่ปรากฏตามพงศาวดารว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงส่งเจ้าชายร่วงโอรสองค์ที่สองไปฝึกมวยไทยที่สำนักสมอคอน แขวงเมืองลพบุรี หรือการที่พ่อขุนรามคำแหงทรงนิพนธ์ตำหรับพิชัยสงคราม โดยมีความข้อความบางตอนกล่าวถึงมวยไทย และการใช้อาวุธอย่างดาบ, หอก, มีด, โล่ และธนู เป็นต้น

- มวยไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มประมาณ พ.ศ.1988 - พ.ศ.2310 รวมระยะเวลา 417 ปี ในระหว่างนั้นบ้างก็มีศึกกับประเทศใกล้เคียง จึงทำให้เหล่าชายฉกรรจ์สมัยกรุงศรี ต้องฝึกฝนความชำนาญในการต่อสู้ด้วยอาวุธ และศิลปะป้องกันตัวด้วยมือเปล่า หรือมวยไทย

โดยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้มีกรมมวยหลวงขึ้น โดยให้คัดเลือกเอาชายฉกรรจ์ที่มีฝีมือในการชกมวยไทยเข้าต่อสู้กันหน้าพระที่นั่ง แล้วคัดเลือกผู้มีฝีมือเลิศไว้เป็นทหารสนิท และทหารรักษาพระองค์ เรียกว่า "ทหารเลือก" สังกัดกรมมวยหลวง มีหน้าที่รักษาความปลอดภัย ภายในพระราชวังหรือตามเสด็จในงานต่าง ๆ รวมถึงเป็นครูฝึกมวยไทยให้ทหาร และพระราชโอรส

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2147 - พ.ศ.2233) มวยไทย นั้นเป็นที่นิยมกันอย่างมากจนกลายเป็นอาชีพ มีค่ายมวยเกิดขึ้น ซึ่งมวยไทยสมัยนี้ชกกันบนลานดิน ใช้เชือกเส้นเดียวกั้นบริเวณเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นักมวยจะใช้ด้ายดิบชุบแป้งหรือน้ำมันดินจนแข็งพันมือ เรียกว่า มวยคาดเชือก นิยมสวมมงคลไว้ที่ศีรษะ และผูกประเจียดไว้ที่ต้นแขนตลอดการแข่งขัน โดยการเปรียบคู่ชกด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้กำหนดขนาดรูปร่างหรืออายุ โดยมีกติกาง่าย ๆ ว่าชกจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้

- มวยไทยสมัยกรุงธนบุรี ที่บ้านเมืองอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศหลังจากการกู้อิสรภาพคืนมาได้ การฝึกมวยไทยในสมัยนี้เป็นการฝึกเพื่อการสงครามและการฝึกทหารอย่างแท้จริง การจัดชกมวยในสมัยกรุงธนบุรี นิยมจัดนักมวยต่างถิ่น หรือลูกศิษย์ต่างครูชกกัน โดยไม่มีกฎกติกาการแข่งขันอย่างชัดเจน ไม่มีคะแนน ทำการชกจนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ สังเวียนนั้นเป็นลานดิน และในยุคนี้มีนักมวยฝีมือดีมากมายเกิดขึ้น

- มวยไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 5 กษัตริย์ไทยทรงโปรดการกีฬา เช่น กระบี่, กระบอง และมวยไทย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดกีฬามวยไทยเป็นอย่างมาก พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทย จึงได้จัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มี มวยหลวง ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ฝึกสอน จัดการแข่งขัน และควบคุมการแข่งขันมวยไทย ในปี พ.ศ.2430 รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น ให้มวยไทยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียนครูฝึกหัดพลศึกษา และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในสมัยนี้เป็นที่ยอมรับว่า คือ ยุคทองของ มวยไทย

ในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น มวยไทยได้มีการฝึกฝนกันไปตามสำนักต่าง ๆ มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน การชกในสมัยนี้ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในไทย การชกกันในสมัยหลัง ๆ จึงสวมนวมชกกันอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

มวยไทยปัจจุบัน

- มวยไทยสมัยปัจจุบัน ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนิน และเวทีลุมพินี เป็นประจำทุก ๆ วันพฤหัสบดี วันเสาร์ วันอาทิตย์ และมีเวทีชั่วคราวอื่น ๆ เช่น เวทีกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และตามต่างจังหวัด มีการแข่งขันทั้งมวยไทยและมวยสากล ตลอดจนได้รับนักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขันและจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศด้วย สนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยมาตรฐานแห่งแรกของโลก และเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยอาชีพ

เครื่องแต่งกายนักมวยไทยสมัยปัจจุบัน จะประกอบไปด้วย ผ้าพันมือ, สนับศอก, สนับหน้าแข้ง, ปลอกรัดข้อเท้า, กระจับ, กางเกง, นวม ฟันยาง, เกราะอ่อนป้องกันลำตัว ศีรษะ และหน้าแข้ง ซึ่งการใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่กล่าวมา เป็นผลมาจากการประชุมของประเทศสมาชิกสหพันธ์สมาคมมวยไทยสมัครเล่นนานาชาติที่ต้องการจะหามาตรการป้องกันอันตรายและให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่นักมวยชาติที่เข้าแข่งขันทุกคน

ประเภทมวยในประเทศไทย

มวย เป็นกีฬาที่ผู้เล่นสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยหมัด มวยเป็นกีฬาที่มีในทั่วโลก แบ่งเป็น

1. มวยไทย คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นศิลปะการต่อสู้อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติมาอย่างยาวนาน

1.1 มวยไทยอาชีพ เช่น มวยคาดเชือก, มวยมาราธอน, มวยเอสวัน, มวยหญิง, มวยไชยา, มวยโคราช, มวยท่าเสา และมวยลพบุรี

มวยคาดเชือก

มวยคาดเชือก หรือมวยโบราณ เป็นการชกมวยไทยในสมัยโบราณที่ใช้เชือกพันที่หมัดทั้ง 2 ข้างแทนการใช้นวมเหมือนมวยไทยปัจจุบัน นักมวยที่จะขึ้นชกจะพันหมัดด้วยเชือกจนแข็ง ผูกเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของแต่ละคน ก่อนชกกันนักมวยต้องมาซ้อมให้นายสนามดูก่อน ถ้ามีฝีมือใกล้เคียงกัน และทั้งคู่พอใจจะชกกันจึงถือว่าได้คู่ การต่อสู้จะชกกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้หรือลุกไม่ขึ้น มิฉะนั้นถือว่าเสมอกัน

มวยมาราธอน

มวยมาราธอน มวยรอบ 8 คนแบบที่ชกรู้ผลในวันเดียว 1 คนจะเป็นผู้ชนะมวยรอบนี้ได้ ต้องชกชนะ 3 ไฟต์ในวันเดียว (แต่ละไฟต์ชกแค่ 3 ยกเท่านั้น) ถึงจะเป็นผู้ชนะ ปกตินักมวย 1 คน ชกวันละไฟต์ก็แย่แล้ว นี่ 3 ไฟต์ 9 ยก

มวยหญิง

มวยหญิง นักมวยไทยหญิง ที่ได้รับการยกย่อง ว่าได้มีทั้งความสวย และเก่ง ที่ไม่เป็นรองผู้ชายเลยแม้แต่น้อย โดยปกติแล้ว หากจะถามถึงนักมวยไทย ที่สร้างชื่อเสียง ระดับตำนานก็มีให้พบเห็น มากมายหลายคน

มวยไชยา

มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ สำหรับในการต่อสู้ใช้แม่ไม้มวยไทยได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น หมัด เท้า เข่า ศอกในการต่อสู้ใช้จำนวนยก 5 ยก

มวยไทยโคราช

มวยไทยโคราช มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ อีกทั้งโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอก ที่ต้องทำการรบกับ ผู้รุกรานอยู่เสมอ จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน

มวยไทยท่าเสา

มวยไทยท่าเสา เป็นสายมวยไทยภาคเหนือ หลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งคือ “ครูเมฆที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องความคล่องแคล่ว ว่องไว รวดเร็ว เด็ดขาด มีลีลาท่าทางสวยงามและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เตะ ถีบ และศอก” เป็นที่ลือกระฉ่อนจนนายทองดีเองถึงกับปฏิญาณกับตัวเองว่าจะต้องมาขอเรียนศิลปะมวยไทยกับสำนักท่าเสาให้ได้ และก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูเมฆผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่นายทองดี ซึ่งได้นำความรู้ที่ได้รับไปผสมผสานกับมวยจีนอีกต่อหนึ่ง

มวยลพบุรี

มวยลพบุรี เกิดขึ้นระหว่างปี ประมาณ พ.ศ. 1200 ไปจนถึง ประมาณปี พ.ศ. 2198 ผู้ก่อตั้ง นามว่า ปรมาจารย์ สุกะทันตะฤาษี และ สำนักอยู่ที่เขาสมอคอน เมือง ลพบุรี ถือว่า เป็น มวย ที่ทำการ ชกที่มีความ ฉลาดมีการ รุกรับคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ แถมยังมีการ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มวยเกี้ยว มวย ที่ใช้ชั้นเชิง เข้าหาอีกฝ่ายโดยใช้กลลวง มักเคลื่อนตัว หลบหลีก หลอกล่อ ได้ดี

มวยไทยสมัครเล่น

1.2 มวยไทยสมัครเล่น เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับและถูกบรรจุเข้าแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติทั้งในระดับซีเกมส์ (SEA Games) เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (Asian Indoor and Martial Arts Games) และเวิลด์เกมส์ (World Games) มาตั้งแต่ช่วงปี 2005 โดยมีสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations) หรืออิฟมา (IFMA) เป็นองค์กรที่คอยพัฒนากีฬาชนิดนี้ให้ไปมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกเกมส์ให้ได้ในอนาคต

2. มวยสากล เป็นศิลปะการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่สู้กันด้วยหมัดทั้ง 2 ข้าง มีการแข่งขันตั้งแต่สมัยกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน มวยสากล จะกำหนดการให้คะแนน ถ้าไม่มีฝ่ายไหนแพ้ชนะน็อก จะตัดสินจากคะแนนรวมยกสุดท้าย แบ่งเป็น

2.1 มวยสากลอาชีพ นักมวยอาชีพมีถึง 12 ยก แต่ละยกจะอยู่ที่ 3 นาที และพัก 2 นาที ต้องฝึกร่างกายมาเพื่อให้รับแรงปะทะที่มหาศาลตลอดทั้งการแข่งขันระดับมวยสากลอาชีพ จะมีการแบ่งการชกเป็นรุ่นต่าง ๆ ดังนี้

1. เฮฟวี่เวท น้ำหนักตั้งแต่ 90 กก.ขึ้นไป

2. ครุยเซอร์เวท น้ำหนักไม่เกิน 90 กก.

3. ซุปเปอร์ มิดเดิลเวท น้ำหนักไม่เกิน 76.2 กก.

4. ซุปเปอร์ เวลเธอร์เวท น้ำหนักไม่เกิน 69.9 กก.

มวยสากล

2.2 มวยสากลสมัครเล่น มวยสากลสมัครเล่นมีเพียง 3 ยกเท่านั้น ใช้เพียงฝีมือที่ไม่ได้เน้นความหนักหน่วง เพราะอาศัยการเข้าทำอย่างรวดเร็วเพื่อเอาคะแนน เพราะในการชกที่มีโอกาสเพียง 3 ยก

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้การแข่งขันของกีฬาชนิดเดียวกันทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่มาก การซ้อมและเทคนิคการทำคะแนนที่แตกต่างกันต่างหาก และในประเภทของมวยสมัครเล่นนั้น เป็นเพียงการคัดเลือกนักกีฬาที่ดีที่สุดของแต่ละประเทศเพื่อเป็นตัวแทนในการแข่งขัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสมาพันธ์มวยโลก จึงไม่ได้มีแบ่งรุ่นการชก แต่เป็นการชกเพื่อคัดเลือกเข้าไปในแต่ละรอบโดยการชกตัดเชือก

มวย


ความแตกต่างของมวยไทย และมวยสากล

มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน มีการปล่อยหมัดและกติกาที่แทบจะเหมือนกันทั้งหมด แต่ก็มีความแตกต่างที่สามารถเห็นได้ชัดอยู่หลายจุดด้วยกัน ดังนี้

1. การขึ้นชกมวยไทยจะใช้เวลาในการชกเพียงแค่ 5 ยกเท่านั้นและจะชกเพียงแค่เวลา 3 นาที พัก 2 นาทีต่อยก แต่สำหรับมวยสากลจะชกโดยรวมที่ 12 ยก แต่ละยกจะอยู่ที่ 3 นาที และพัก 2 นาทีเช่นกัน ดังนั้นแบบสากลจึงต้องใช้พละกำลังที่มากกว่า

2. มวยไทยจะมีท่าทางหรือที่เรียกว่า แม่ไม้มวยไทย ที่หัวใจหลักเป็นทั้งหมัด, ศอก, เข่า และหน้าแข้ง สามารถยกขาเพื่อเตะหรือกันคู่ต่อสู้ได้ เป็นกีฬาที่สามารถใช้ได้ทุกส่วนของอวัยวะของร่างกาย และถือว่าอันตรายมาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันมวยสากลจะใช้ได้เพียงแค่หมัดเท่านั้น จะออกอาวุธแบบแม่ไม้ของมวยไทยไม่ได้ แต่จะใช้วิธีการโยกหลบ หรือใช้มีชั้นเชิงในการโยกหลอกหมัดของคู่ต่อสู้

3. การครบยกเร็วของมวยไทย ทำให้ต้องใช้ความคิดและการวางแผนที่รวดเร็วเพื่อแก้เกมให้ได้ทันเวลา แต่สำหรับการต่อยแบบสากลจะมีถึง 12 ยก จึงมีเวลาในการวางแผนได้นานกว่า

4. การชกมวยของไทยในบางเวทีใช้เป็นเพียงแค่การมัดเชือกไว้ที่มือทั้งสองข้าง ส่วนที่หน้าแข้งจะมีการพันผ้าอีกเล็กน้อย สำหรับการชกในภาคเหนือจะถูกเรียกว่ามวยคาดเชือกที่จะนำเชือกมาพันมือไว้แทนนวม แต่สำหรับสากลแล้วจะต้องใช้เป็นนวมเท่านั้น


องค์ประกอบพื้นฐานของนักมวยไทย

- การเห็นคุณค่าในความงามของศิลปะการป้องกันตัวแบบมวยไทย

- จิตวิญญาณของมวยไทย ได้แก่ ความสง่างาม, ความแข็งแกร่ง, ความมีน้ำใจไมตรี และความเรียบง่าย

- ขนาด และความสมส่วนของร่างกาย

- สมาธิ ปฏิภาณ ไหวพริบ ความเข้มแข็งของร่างกาย และจิตใจ

- ความมีอารมณ์รื่นเริงเบิกบาน, อ่อนน้อม, อดทน และอดกลั้น

- ความศรัทธาเชื่อมั่นกตัญญูต่อครูบาอาจารย์

- ความไม่ประมาท และการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสม

- ความมีน้ำใจนักกีฬา, ขยันหมั่นเพียร, กล้าหาญ และเสียสละ

กติกามวยไทย


กติกามวยไทย

ปัจจุบันนั้นมี กีฬามวยไทยอาชีพบนเวทีมวยมาตรฐาน และกีฬามวยไทยสมัครเล่น เป็นการต่อสู้ที่มีกฏกติกาชัดเจน มีนายสนามผู้ขออนุญาตจัด มีผู้จัดชก มีกรรมการให้คะแนนและกรรมการตัดสินชี้ขาด กรรมการตัดสินจะต้องมีอย่างน้อย 3 คน มีกรรมการตัดสินชี้ขาดบนเวทีและกรรมการให้คะแนน การให้คะแนนนิยมให้เป็นยก ยกละ 10 คะแนน

พิจารณาจากการใช้ศิลปะการป้องกัน การต่อสู้ ความบอบช้ำที่ได้รับ อันตรายจากบาดแผล การได้เปรียบเสียเปรียบ การคาดการณ์ผลสุดท้ายของการต่อสู้ การตัดคะแนนจากการเอารัดเอาเปรียบคู่ชกในขณะที่ไม่เหมาะสม, การถูกทำให้เสียหลักหรือล้ม และการถูกนับ ฯลฯ โดยจะพิจารณาโดยใช้หลักวิชา และประสบการณ์ของกรรมการที่ผ่านการตรวจสอบรับรองความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ การชกจัดเป็นยกมี 5 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาที (เดิมกำหนด 4 ถึง 6 ยก) มุ่งผลเพียงแค่ แพ้ ชนะ และการแสดงออกของศิลปะการต่อสู้ชั้นสูง ผู้ชกต้องแต่งกายตามกำหนด และมีการสวมมงคลคาดผ้าประเจียด และก่อนชกต้องมีการไหว้ครูทุกครั้ง

ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย นั้นมีพัฒนาการควบคู่มากับวิถีชีวิตของคนไทย ลักษณะผสมผสานกับด้านการต่อสู้เพื่อใช้ป้องกันตัว และต่อต้านการรุกรานของชนเผ่าอื่น แล้วยังรวมเอาการแสดงศิลปะลีลาของการใช้อวัยวาวุธอันมีความหลากหลายพิสดารน่าดูไว้ด้วยตามลักษณะนิสัยของคนไทยที่ชอบการแสดงออก, ความสนุกสนานร่าเริง และเป็นมิตร ตลอดถึงความเป็นคนอ่อนน้อม กตัญญูรู้คุณคน ซึ่งถือเป็นหลักการของศิลปะการต่อสู้เฉพาะ ชนชาวไทย ที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากชาติใด ๆ ผู้ที่เรียนรู้ ฝึกฝนจนเข้าถึงและเข้าใจจึงจะสามารถคงเอกลักษณ์นี้ไว้ได้


อุปกรณ์มวยไทย

ในการฝึกซ้อมมวยไทยสมัครเล่น และมวยไทยอาชีพ นั้นจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการฝึกซ้อมเพื่อสร้างเสริมสมรรถภาพของนักกีฬามวยไทย ให้มีร่างกายแข็งแรง ทนทาน ความคล่องแคล่วว่องไว ในการใช้ทักษะมวยไทย จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ในการฝึกซ้อมรวมถึงอุปกรณ์ในการแข่งขัน จึงจะขอกล่าวถึงอุปกรณ์มวยไทยสมัครเล่น เพราะมวยไทยสมัครเล่นในปัจจุบันนี้เป็นที่นิยมทั้งมีการจัดการแข่งขันกันมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอุปกรณ์ในการฝึกซ้อมและแข่งขันมวยไทยสมัครเล่น ได้แก่ ฟันยาง, นวม, กระสอบ, เป้าเตะ, เวทีมวย, เชือกกระโดด, สนับแข้ง ,สนับศอก, เครื่องป้องกันศีรษะ, เครื่องป้องกันลำตัว, ชุดมวย และกระจับ เป็นต้น

แม่ไม้มวยไทย 15 ท่า

แม่ไม้มวยไทย เป็นท่าต่อสู้ของวิชามวยไทยที่สำคัญที่สุด อันเป็นพื้นฐานของการใช้ไม้มวยไทย โบราณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งแม่ไม้มวยไทยเป็น 15 ไม้ ดังนี้

ท่าที่ 1 สลับฟันปลา

ใช้มือข้างหนึ่งปัดหมัดของอีกฝ่าย แล้วใช้มืออีกข้างกระแทกที่ไหล่ด้านนอกของฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินเข้ามาชกด้วยหมัดซ้าย ตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ

- ฝ่ายรับ ใช้มือซ้ายปัดหมัดฝ่ายรุกที่ข้อมือ ส่วนมือขวากระแทกไปที่หัวไหล่ด้านนอก ของฝ่ายรุก

สลับฟันปลา

ท่าที่ 2 ปักษาแหวกรัง

ก้าวเท้าข้างหนึ่งทแยงเข้าวงใน ใช้แขนปัดหมัดฝ่ายรุกให้พ้นใบหน้า และใช้มืออีกข้างกระแทกไหล่ด้านในของฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า มือซ้ายตั้งมั่นพร้อมที่จะชกหมัด

- ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวา ทแยงเฉียงด้านขวาสืบเท้าเข้าวงใน ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าขวา ใช้แขนซ้ายปัดหมัดให้พ้นใบหน้า มือขวากระแทกไปที่หัวไหล่ด้านในของฝ่ายรุกทันที

ปักษาแหวกรัง

ท่าที่ 3 ชวาซัดหอก

ก้าวเท้าเฉียงออกวงนอก ยกแขนข้างหนึ่งปัดหมัดฝ่ายรุกออก แล้วใช้แขนอีกข้างหนึ่งยกศอกกระแทกชายโครงฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่บริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือขวาตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าซ้าย โดยพุ่งตัวเข้าหาคู่ต่อสู้ แขนขวายกขึ้นปัดหมัดฝ่ายรุกให้เบนออกพ้นตัว แขนซ้ายยกศอกกระแทกเข้าชายโครงของฝ่ายรุก

ชวาซัดหอกชวาซัดหอก

ท่าที่ 4 อิเหนาแทงกริช

ก้าวเท้าทแยงเข้าวงใน ยกแขนข้างหนึ่งปัดหมัดฝ่ายรุกออก แล้วใช้แขนอีกข้างหนึ่ง ยกศอกกระแทกชายโครงฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่บริเวณหน้า ของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวาทแยงเข้าวงใน ทิ้งน้ำหนักลงบนเท้าขวา ยกแขนซ้ายขึ้นปัดหมัดให้พ้นตัว แขนขวางอศอก เพื่อส่งศอกกระแทกที่ชายโครงของฝ่ายรุก

อิเหนาแทงกริช

ท่าที่ 5 ยอเขาพระสุเมรุ

ก้มศีรษะเพื่อให้หมัดฝ่ายรุกพ้นไป พร้อมก้าวเท้าไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้หมัดเสยคางฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยชกด้วยหมัดขวา ตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ รีบก้มศีรษะให้หมัดผ่านศีรษะไป พร้อมกับสืบเท้าขวาไปข้างหน้าเล็กน้อย ให้ได้จังหวะหมัด แล้วชกหมัดขวา เข้าสู่ปลายคาง ของฝ่ายรุกทันที

ท่ายอเขาพระสุเมรุ

ท่าที่ 6 ตาเถรค้ำฝัก

ก้าวเท้าข้างหนึ่งเข้าวงใน พร้อมกับงอแขนข้างหนึ่งปัดหมัดฝ่ายรุกให้พ้นศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างชกปลายคางฝ่ายรุกทันที

- ฝ่ายรุก เดินมวยชกด้วยหมัดขวาตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ รีบสืบเท้าขวาไปข้างหน้าเข้าวงในของฝ่ายรุก ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าขวา พร้อมกับงอแขนซ้ายยกขึ้นตรงหน้า ปัดกระแทกขึ้น ให้หมัดฝ่ายรุกพ้นศีรษะไป มือขวาชกเข้าสู่ปลายคางของฝ่ายรุกทันที

ท่าตาเถรค้ำฝัก

ท่าที่ 7 มอญยันหลัก

ยกแขนทั้งสองป้องกันหน้า แล้วใช้เท้าข้างหนึ่งถีบท้องหรือช่องอกฝ่ายรุกให้กระเด็น

- ฝ่ายรุก เดินมวยชกด้วยหมัดซ้ายตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ

- ฝ่ายรับ รีบยกแขนทั้งสองขึ้นป้องกันหน้า พร้อมกับยกเท้าขวาถีบเข้าที่ยอดอกหรือท้องของฝ่ายรุก ให้กระเด็นไป

ท่ามอญยันหลัก

ท่าที่ 8 ปักลูกทอย

หันตัวหาทิศทางที่ฝ่ายรุกเตะมา ยกศอกทั้งสองขึ้นป้องกัน พร้อมกับใช้มือป้องกันการพลาดถูกใบหน้าไปในตัว

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าเตะเหวี่ยงด้วยเท้าซ้ายเป้าหมายคือ ศีรษะฝ่ายรับ มือทั้งสองตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ รีบสืบเท้าเข้าหาครึ่งก้าว พร้อมกับหมุนตัว เอาเท้าขวาเป็นแกน หันหน้าเข้าหาทิศทางที่เท้าเตะมา ยกศอกขวาตั้งขึ้นระดับหน้าแข้ง มือซ้ายตั้งการ์ดปิดระดับต้นคอให้มั่น เพื่อป้องกันพลาดถูกใบหน้า

ท่าปักลูกทอย

ท่าที่ 9 จระเข้ฟาดหาง

ใช้ส้นเท้ากระแทกเข้าที่ศีรษะของฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงสุดแรง จนตัวเสียหลักถลันเข้าไปข้างหน้า

- ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายทแยงออกวงนอก เอี้ยวตัวให้หมัดผ่านทางไหล่ขวา ในระยะ 1 คืบ แล้วใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก หมุนให้ส้นเท้ากระแทกที่ศีรษะ ของฝ่ายรุก

ท่าจระเข้ฟาดหาง

ท่าที่ 10 หักงวงไอยรา

ใช้แขนโอบจับบริเวณน่องฝ่ายรุก พร้อมกับใช้ศอกอีกข้างแทงเข้าที่บริเวณโคนขาของฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าหาพร้อมยกเท้าเข้าเตะกราดบริเวณชายโครง มือทั้งสองตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาฝ่ายรุกในระยะเกือบชิดตัวอย่างรวดเร็ว หันหน้าเข้าหาทิศทาง ที่ฝ่ายรุกเตะมา กระแทกศอกขวาสู่บริเวณโคนขาฝ่ายรุก พร้อมแขนซ้ายโอบจับตรงบริเวณน่อง ยกขาให้สูง เพื่อให้เสียหลัก ป้องกันฝ่ายรุกใช้ศอกถองที่ศีรษะ

ท่าหักงวงไอยรา

ท่าที่ 11 นาคาบิดหาง

ใช้มือทั้งสองตะปบส้นเท้าอีกฝ่ายที่เตะมา แล้วใช้มือที่จับปลายเท้าฝ่ายรุกบิดออกด้านนอก ใช้มือที่จับส้นเท้าฝ่ายรุกดึงเข้าหาตัว พร้อมใช้เข่ากระแทกเข้าที่น่องฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าหา พร้อมเตะเหวี่ยงด้วยเท้าขวา มือทั้งสองตั้งมั่น

- ฝ่ายรับ รีบพลิกตัวหันหน้าไปทางเท้าที่กำลังเตะมา น้ำหนักตัวทิ้งบนเท้าซ้าย เท้าขวาอยู่ในหลักยืนมวย แบบสิงหยาตร มือขวาตั้งฝ่ามือปะทะปลายเท้า มือซ้ายแบหงาย ตะปบส้นเท้า แล้วใช้มือที่จับปลายเท้า พลิกบิดออกด้านนอก มือซ้ายจับส้นเท้าฝ่ายรุก ดึงเข้าหาตัว พร้อมกับใช้เข่ากระแทกไปที่น่อง

ท่านาคาบิดหาง

ท่าที่ 12 วิรุฬหกกลับ

พลิกตัวทแยงสู่ทิศที่ฝ่ายรุกเตะมา แล้วใช้เท้ากระแทกต้นขาฝ่ายรุกออกไป โดยใช้มือทั้งสองป้องกันการพลาดเตะถูกชายโครง

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าหา พร้อมทั้งยกเท้าเตะกราดตรงบริเวณชายโครง

- ฝ่ายรับ รีบพลิกตัวทแยงหันหน้าสู่ทิศทางที่เท้าเตะมา ใช้เท้าซ้ายเป็นหลักยืนให้มั่น ยกเท้าขวากระแทกด้วยส้นเท้าที่ต้นขาให้สะท้อนกลับไป มือทั้งสองตั้งให้มั่น เพื่อป้องกันพลาดถูกชายโครง

ท่าวิรุฬหกกลับ

ท่าที่ 13 ดับชวาลา

ใช้มือข้างหนึ่งกดแขนฝ่ายรุกที่ชกมาให้ลงต่ำ พร้อมกับใช้มืออีกข้างชกหน้าฝ่ายรุกในเวลาเดียวกัน

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ

- ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายทแยงเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวบนเท้าซ้าย ใช้มือซ้ายกดแขนขวา ของฝ่ายรุกให้เบนและลงต่ำ รีบชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า ให้เป็นจังหวะเดียวกับมือซ้ายที่กดลงนั้นอย่างรวดเร็ว

ท่าดับชวาลา

ท่าที่ 14 ขุนยักษ์จับลิง

ยกแขนทั้งสองปัดการเตะที่แข้งของฝ่ายรุก แล้วยกแขนข้างหนึ่งป้องกันศอกของฝ่ายรุก ซึ่งเป็นการหลบการชก, การเตะ และการศอกในเวลาเดียวกัน

- ฝ่ายรุก เดินมวยเข้าชกหมัดซ้ายตรงเข้าที่บริเวณหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับเตะเท้าขวา ตรงบริเวณชายโครง ตามด้วยศอกขวาอย่างรวดเร็ว

- ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเข้าหาตัว ก้าวเท้าขวา ยกแขนทั้งสองข้างปัดการเตะที่แข้งขวาของฝ่ายรุก พร้อมยกแขนซ้ายป้องกันศอกขวาของฝ่ายรุก แม่ไม้นี้เป็นการหลบหมัด หลบเตะ หลบศอก ในเวลาเดียวกัน

ท่าขุนยักษ์จับลิง

ท่าที่ 15 หักคอเอราวัณ

ใช้มือทั้งสองจับที่ต้นคอของฝ่ายรุก แล้วกระแทกเข่าข้างหนึ่งไปที่หน้าของฝ่ายรุก

- ฝ่ายรุก เเดินมวยเข้าชกหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ

- ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายทแยงเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวบนเท้าซ้าย ใช้มือซ้ายกดแขนขวา ของฝ่ายรุกให้เบนและลงต่ำ รีบชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า ให้เป็นจังหวะเดียวกับมือซ้ายที่กดลงนั้นอย่างรวดเร็ว

ท่าหักคอเอราวัณ

ลูกไม้มวยไทย 15 ท่า

ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่แยกย่อยออกไปจากแม่ไม้ มีลักษณะที่ละเอียดอ่อนมากมายหลายอย่าง ซึ่งผู้ฝึกจะต้องผ่านการฝึกหัดแม่ไม้มวยไทยก่อน จึงจะฝึกลูกไม้ให้ได้ดี แบ่งลูกไม้มวยไทยเป็น 15 ไม้ ดังนี้


ท่าที่ 1 ท่าเอราวัณเสยงา

ลูกไม้มวยไทย ท่านี้ใช้แก้หมัดคู่ต่อสู้ โดยใช้การหมุนตัวปัดหมัดและชกสวนออกไปด้วยหมัดเสยปลายคาง ซึ่งผู้ที่ต้องการฝึกท่านี้ ต้องผ่านการฝึกฝนท่าแม่ไม้มวยไทยเสียก่อน ถึงจะสามารถฝึกท่าเอราวัณเสยงาได้อย่างถูกต้อง แถมท่านี้ยังใช้ทักษะการใช้หมัดที่สามารถทำอันตรายให้แก่คู่ต่อสู้ได้

ท่าเอราวัณเสยงา

ท่าที่ 2 ท่าบาทาลูบพักตร์

ลูกไม้มวยไทย ท่านี้ถือได้ว่ามีระดับการออกอาวุธค่อนข้างรุนแรง เพราะเป็นท่าที่ส่งผลให้ใบหน้าของคู่ต่อสู้ได้รับอันตรายแบบไม่ทันตั้งตัว

ท่าบาทาลูบพักตร์

ท่าที่ 3 ท่าขุนยักษ์พานาง

ลูกไม้มวยไทย เป็นท่าที่ต้องความเร็วในการประชิดตัวคู่ต่อสู้ และใช้แรงในการทุ่มให้คู่ต่อสู้ลงไปอยู่ที่พื้น เป็นท่าที่ใช้ในการตัดกำลังคู่ต่อสู้ และอาจทำให้ศีรษะคู่ต่อสู้ฟากพื้นได้

ท่าขุนยักษ์พานาง

ท่าที่ 4 ท่าพระรามน้าวศร

ลูกไม้มวยไทย ท่านี้เป็นกระบวนท่า มวยไทยที่ใช้รับศอกที่ตีมาจากด้านบน จากนั้นก็ชกสวนหมัดไปที่คู่ต่อสู้ เป็นท่าที่ใช้ตั้งรับอาวุธของอีกฝ่าย และชกหมัดสวนกลับ

ท่าพระรามน้าวศร

ท่าที่ 5 ท่าไกรสรข้ามห้วย

ลูกไม้มวยไทย ที่ใช้ต่อกรกับท่าบาทาลูบพักตร์ ใช้แก้สถานการณ์เท้าคู่ต่อสู้เตะมาที่ใบหน้า โดยถีบสวนไปที่เท้าที่ยืนเป็นเท้าหลักของคู่ต่อสู้ เป็นศิลปะมวยไทยที่แยกย่อยออกมาจากแม่ไม้มวยไทย มีท่วงท่าที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งท่านี้เป็น 1 ในท่าลูกไม้มวยไทย

ท่าไกรสรข้ามห้วย

ท่าที่ 6 ท่ากวางเหลียวหลัง

ลูกไม้มวยไทย ที่เป็นท่ากลับหลังหันใช้เท้าตรงกันข้ามถีบ ปลายคางหรือยอดอกของฝ่ายรุก

ท่ากวางเหลียวหลัง

ท่าที่ 7 ท่าหิรัญม้วนแผ่นดิน

ลูกไม้มวยไทยท่านี้ใช้รับเตะคู่ต่อสู้และม้วนแทงศอกกลับ ซึ่งผู้ฝึกจะต้องผ่านการฝึกหัดแม่ไม้มวยไทยเสียก่อน จึงจะฝึกท่านี้ให้ออกมาดีได้

ท่าหิรัญม้วนแผ่นดิน

ท่าที่ 8 ท่านาคมุดบาดาล

ลูกไม้นี้ใช้แก้การเตะสูง เตะบริเวณคางหรือขมับด้วย เท้าขวา หรือก้มตัวหลบลอดใต้เท้าขวาของ ฝ่ายรุกที่เตะมายังก้านคอหรือศีรษะ

ท่านาคมุดบาดาล

ท่าที่ 9 หนุมานถวายแหวน

เป็นท่าลูกไม้มวยไทย ที่ใช้เสยหมัดเข้าใต้คางของคู่ต่อสู้ ที่มีที่มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวน เป็นตอนที่หนุมานถวายแหวนให้นางสีดา เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าตนนั้นเป็นทหารของพระราม

ท่าหนุมานถวายแหวน

ท่าที่ 10 ท่าญวนทอดแห

ลูกไม้มวยไทย พลิกตัวเตะสวนขึ้นด้วยเท้าซ้ายเข้าที่พับในของฝ่ายรุกทันที หรือเดินมวยเข้าถีบด้วยเท้าขวาไปที่หน้าของฝ่ายรับ มือทั้งสองตั้งมั่น

ท่าญวนทอดแห

ท่าที่ 11 ท่าทะแยค้ำเสา

ลูกไม้มวยไทย ที่ใช้แก้การเตะหรือถีบโดยก้มตัวลงถีบเท้าที่เป็นหลักของคู่ต่อสู้ให้หงายหลังล้มไป เป็นท่าที่จัดอยู่ให้หมวดลูกไม้มวยไทย โดยท่าหลายๆท่าในหมวดนี้จะมีลักษณะที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก

ท่าทะแยค้ำเสา

ท่าที่ 12 ท่าหงส์ปีกหัก

ลูกไม้มวยไทย กระบวนท่าที่สวยงามและทรงพลัง เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น หรือก้าวเท้าซ้ายเข้าประชิดตัว แล้วใช้แขนซ้ายปัดหมัดให้เบนออก กระแทกศอกขวาเข้าที่หัวไหล่ขวาของคู่ต่อสู้

ท่าหงส์ปีกหัก

ท่าที่ 13 ท่าฝานลูกบวบ

ลูกไม้มวยไทย โดยการเดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น หรือก้าวเท้าขวาทแยงเข้าวงใน ใช้แขนซ้ายปัดหมัดให้เบนออก พร้อมกับใช้ศอกเสยเข้าที่ปลายคางของฝ่ายรุกทันที

ท่าฝานลูกบวบ

ท่าที่ 14 ท่าสักพวงมาลัย

ลูกไม้มวยไทย โดยการเดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น หรือก้าวเท้าขวาประชิดตัว ใช้แขนซ้ายปัดหมัดให้เบนออก กระแทกศอกขวาเข้าที่ยอดอกของคู่ต่อสู้

ท่าสักพวงมาลัย

ท่าที่ 15 ท่าเถรกวาดลาน

ลูกไม้มวยไทย ที่ใช้การเดินมวยเตะสูง หรือยืนในลักษณะเท้ายืนคู่ หรือเดินมวยเข้าหาในระยะที่เตะกวาดได้พร้อมกับก้มตัวลง ให้เท้าของฝ่ายรุกเตะผ่านศีรษะไป แล้วเตะกวาดไปที่เท้าซ้ายที่ยืนอยู่ของฝ่ายรุกอย่างสุดแรง ถ้ายืนจดมวย ให้เตะกวาดขาที่อยู่ข้างหน้า

ท่าเถรกวาดลาน

กลมวยไทย 6 ท่า

เทคนิคเฉพาะตัวของนักมวย ซึ่งนักมวยแต่ละคนจะมีเทคนิคเฉพาะตัวแตกต่างกันไปเพื่อพิชิตคู่ต่อสู้ให้เด็ดขาด แบ่งกลมวยไทยเป็น 6 ท่า ดังนี้


ท่าที่ 1 ท่าฤๅษีบดยา

กลมวยที่วิ่งเข้าหาฝ่ายรับ เท้าซ้ายเหยียบที่ต้นขาขวาของฝ่ายรับ เท้าขวาเหยียบที่หัวไหล่ ใช้หมัดซ้ายจับต้นคอฝ่ายรับ พร้อมกับกระแทกศอกขวา ที่กลางกระหม่อมของฝ่ายรับ หรือเตรียมพร้อมยืนในลักษณะที่เท้านำเท้าตามในท่าจดมวย

ท่าฤๅษีบดยา

ท่าที่ 2 ท่าพระรามเดินดง

กลมวยที่เดินมวยเข้าเตะด้วยเท้าขวาระดับชายโครง มือทั้งสองตั้งมั่น หรือพุ่งตัวยกเท้าซ้ายขึ้นเหยียบระดับหน้าตักของเท้าที่เตะมา พร้อมกับส่งแรงพุ่งเข่าขวา ให้ผสมกับแรงที่คู่ต่อสู้เตะมาผ่านทางเท้าซ้ายที่เหยียบ ในลักษณะแรงส่งเข้าสู่ลูกคาง หรือยอดอก ตัวก็ลอยโด่งขึ้น เพราะแรงส่งของเท้าที่เตะมาเต็มแรง

ท่าพระรามเดินดง

ท่าที่ 3 ท่าพระรามเหยียบลงกา

กลมวยที่พุ่งเข้าหาฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายขึ้นเหยียบต้นขาซ้ายของฝ่ายรับ พลิกตัวไปทางซ้าย ใช้เท้าขวาเตะศีรษะด้านข้างของฝ่ายรับ หรือยืนในท่าจดมวยในลักษณะเท้านำ เท้าตาม จดมวยตั้งมั่น

ท่าพระรามเหยียบลงกา

ท่าที่ 4 ท่าบั่นเศียรทศกัณฐ์

กลมวยพุ่งเข้าหาฝ่ายรับ ยกเข่าขึ้นตั้งพุ่งใส่บ่าทั้งสองข้างของฝ่ายรับ พร้อมกับกระแทกศอกทั้งสองข้างลงที่ศีรษะของฝ่ายรับ หรือยืนอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะต่อสู้จดมวยตั้งมั่น

ท่าบั่นเศียรทศกัณฐ์

ท่าที่ 5 ท่านกคุ้มเข้ารัง

กลมวยที่เดินมวยเข้าหาโดยเปิดช่องว่างส่วนอกไว้ หรือกระโดดพุ่งตัวพร้อมกับคู้ตัวในลักษณะหมัดทั้งสองป้องปิดจากอกตลอดศีรษะ เข่างอขึ้นปิดท้องคล้ายนกคุ้มพุ่งเข้ากระแทกคู่ต่อสู้ โดยหมัดกระแทกที่คาง ศอกกระแทกที่ลิ้นปี่ ขากระแทกที่ท้องอย่างแรง

ท่านกคุ้มเข้ารัง

ท่าที่ 6 ท่าม้าดีดกระโหลก

กลมวยที่ยืนหันข้างให้ฝ่ายรับ เหวี่ยงแขนทั้งสองข้างไปทางซ้ายคล้ายตีลังกา และใช้เท้าเตะที่หน้าของฝ่ายรับ หรือยืนจดมวยในท่าเตรียมพร้อมออกอาวุธ

ท่าม้าดีดกระโหลก


10 นักมวยไทยที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย

นักมวยไทยระดับตำนาน ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ที่ต่างได้รับการยกย่อง ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ได้แก่

1. เขาทราย แกแล็คซี่

เขาทราย แกแล็คซี่ มีชื่อจริงว่า สุระ แสนคำ อดีตนักมวยแชมป์โลกคนที่ 9 ของชาวไทย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เขาทรายป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน แชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร ตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง 7 ปี 2 เดือน 30 วัน

เขาทราย แกแล็คซี่

2. สามารถ พยัคฆ์อรุณ

ชื่อจริงว่า สามารถ ทิพย์ท่าไม้ แชมป์โลกคนที่ 10 ของไทย ในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวท (122 ปอนด์) ถือเป็นนักมวยชั้นเชิงแพรวพราว สายตาดี ชกได้สนุก ชนะใจคนดู และประสบความสำเร็จอย่างมากในการชกมวยไทย

สามารถ พยัคฆ์อรุณ

3. สมรักษ์ คำสิงห์

นาวาตรี สมรักษ์ คำสิงห์ วีรบุรุษโอลิมปิก ได้เหรียญทองจากกีฬาซีเกมส์ที่เชียงใหม่ และผ่านการคัดเลือกไปแข่งกีฬาโอลิมปิกรอบสุดท้ายได้สมรักษ์โด่งดังถึงที่สุดในปี พ.ศ. 2539

สมรักษ์ คำสิงห์

4. บัวขาว บัญชาเมฆ

ร้อยโท สมบัติ บัญชาเมฆ ชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการการต่อสู้ระดับสากล โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและประเทศญี่ปุ่น จัดเป็นหนึ่งในนักกีฬาอาชีพไทยที่ทำรายได้สูง โดยส่วนใหญ่มาจากการชกมวยที่ต่างประเทศ

แชมป์ สภามวยไทยโลก ในพระบรมราชูปถัมภ์ WMC World champion ปี 2549, 2552, 2554, 2557

บัวขาว บัญชาเมฆ

5. รถถัง จิตรเมืองนนท์

รถถัง จิตรเมืองนนท์ ชื่อจริงคือทินกร ศรีสวัสดิ์ นักมวยไทยชาวไทยระดับแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท นักมวยไทยจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับการกล่าวว่ามีความทรหด และการโจมตีที่รุนแรง ไตล์การต่อสู้แบบบุกตะลุย ที่มักเป็นฝ่ายเดินหน้าไม่มีถอยหลัง ซึ่งเปรียบเสมือนรูปแบบการเคลื่อนที่ของรถถัง

รถถัง จิตรเมืองนนท์

6. สด จิตรลดา

สด จิตรลดา มีชื่อจริงว่า เชาวลิต วงศ์เจริญ ในยุคที่ กีฬามวยสากลอาชีพ ได้รับความนิยมสุดขีด แชมป์โลกชาวไทยคนที่ 8 รุ่นฟลายเวต 112 ปอนด์ ของสภามวยโลก WBC และแชมป์เดอะริง

สด จิตรลดา

7. สมจิตร จงจอหอ

พันโท สมจิตร จงจอหอ นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นชาวไทย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2 สมัย เหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัย และได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชิญธงชาติไทย นำคณะนักกีฬาทีมชาติไทย ในพิธีปิดโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 26

สมจิตร จงจอหอ

8. มนัส บุญจำนงค์

มนัส บุญจำนงค์ นักมวยสากลสมัครเล่นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก จากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่ประเทศกรีซ นับเป็นชาวไทยคนที่ 5 ที่ได้รับเหรียญทองโอลิมปิก

มนัส บุญจำนงค์

9. วิจารณ์ พลฤทธิ์

พันตำรวจโท วิจารณ์ พลฤทธิ์ นักมวยเหรียญมวยสากลสมัครเล่นทองโอลิมปิกครั้งที่ 27 ชาวไทยคนที่ 2

วิจารณ์ พลฤทธิ์

10. มิ้นต์ ส.บุญมี

เกตมณี ซะสิงห์ นักมวยหญิงตัวแทนสมุทรสาคร เจ้าของเหรียญทองในการแข่งขัน มวยหญิง รุ่น 45 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นเหรียญทองแรก ของทัพนักกีฬาจากจังหวัดสมุทรสาคร

เกตมณี ซะสิงห์

นอกจากนี้ยังยอดฝีมือมวยไทยอีกมากมายที่ดังไกลไปต่างประเทศ

นักมวยไทย

วีรบุรุษเหรียญโอลิมปิคคนใดบ้าง ที่เคยชกมวยไทยอาชีพมาก่อน

นักมวยไทย

มวยไทยเทรนด์การออกกำลังกายยอดนิยม

นักมวยไทย

นักมวยไทย

การออกกำลังกายด้วยการต่อยมวยไทยได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมากทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ หรือ ดารา เซเลบริตี้ โดยมวยไทยสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความอดทน และสร้างการทรงตัวให้ดีขึ้นได้ สามารถช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมัน รวมทั้งเพิ่มความแข็งแรง ความอดทน และการทรงตัวของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ครูฝึกจะแนะนำ รวมทั้งการใช้ศอก การเตะ ทำให้ได้รู้จักกับท่าทางและลีลาของ มวยไทย ไปด้วยในตัว สามารถชกแบบมีคู่ซ้อม หรือไม่มีก็ได้ เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาทีแต่มีความเนื่อง การเคลื่อนไหวเน้นหนักเป็นจังหวะสั้นๆ เหมือนการออกกำลังกายแบบ HIIT (High-Intensity Interval Training) ที่ออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงเวลาสั้นๆ นั่นเอง

นักมวยไทย

ทำให้การต่อยมวยช่วยเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อ ได้พัฒนาพลังกล้ามเนื้อส่วนบนและล่าง โดยเฉพาะเวลาที่ขยับแขนและไหล่ จะเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของร่างกายด้านบน และในขณะที่ใช้ขาเตะ โดยจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อลำตัว กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อหลัง ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น กล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้อัตราการเผาผลาญพลังงานมากขึ้นไปด้วย ทำให้มีพละกำลัง มีแรงมากขึ้น

ตัวอย่างการซ้อมมวยไทยของนักร้องสาวซุปเปอร์สตาร์ กระแต อาร์สยาม


10 ยิมต่อยมวยสุดฮิตยอดนิยมในประเทศไทย

มวยนั้นเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ได้เราจะได้ออกกำลังกายครบทุกส่วนจริง ๆ แถมยังช่วยเบิร์นแคลอรีในร่างกายได้เป็นอย่างดี ซึ่งในยุคนี้นั้นสามารถหาได้ง่ายมาก ๆ จะต่างกับยุคก่อนที่รับเฉพาะนักมวย

911 MTM

1. 911 MTM 56 ถนนประเสริฐมนูกิจ แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร คลาสมวยที่นี่ก็ไม่เหมือนที่ไหน ซึ่งเค้าจะเรียกกันว่า Piloxing คือมวยผสมเต้น ผสม Pilates (3 in 1) เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักอย่างเร่งด่วน และต้องการสร้างกล้าม พร้อมกับกำจัดไขมันส่วนเกินออกไป เป็นของยิมดาราสาว คุณเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ

RSM

2. RSM Rajadamnern Singha Muay Thai Academy ซีนสเปซ 13 ที่อยู่ 251/1 ซอยทองหล่อ 13 (ชั้น 3 โครงการ Seen Space 13) คลองตันเหนือ วัฒนา กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นจากสนามมวยราชดำเนินที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผสมเข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมืองให้เหมาะกับการออกกำลังกายในรูปแบบใหม่ ที่ใช้การต่อยมวยเป็นหลัก โดยคลาสให้เลือกเรียนหลากหลายระดับ แล้วแต่ความฟิตของผู้เรียน ครูสอนมวย เป็นนักต่อยมวย และครูผู้ฝึกนักมวยตัวจริง

Bangkok Fight Lab

3. Bangkok Fight Lab 137 สุขุมวิทซอย 50 แขวง พระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เป็นโรงยิมศิลปะการต่อสู้ชั้นนำของเมืองไทยที่นี่มีการฝึกสอนที่มีคุณภาพสูงสุด มีพื้นที่ฝึกอบรมระดับพรีเมี่ยม 1,000 ตารางเมตร

ค่ายมวยคงสิทธา

4. ค่ายมวยคงสิทธา 23 ถ. สุคนธสวัสดิ์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ค่ายซ้อมมวยเพื่อสุขภาพและซ้อมมวยอาชีพ คงสิทธา โดยมีวัตถุประสงค์การนำกีฬามวยไทยมาออกกำลังกาย เพื่อส่งเสริมศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวในรูปแบบของมวยไทย

เจพี บ็อกซิ่งยิม

5. เจพี บ็อกซิ่งยิม พิษณุโลก 49 ถนนชาญเวชกิจ ตลาดทรัพย์อนันต์ เมืองพิษณุโลก นำเสนอประสบการณ์มวยไทยที่แท้จริงในประเทศไทย ผู้ฝึกสอนผู้เชี่ยวชาญของพวกเขามีประสบการณ์มากมายทั้งมวยสากล และมวยไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทอันเงียบสงบที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม

แฟร์เท็กซ์ พัทยา

6. แฟร์เท็กซ์ พัทยา 212 หมู่ 5 นาเกลือ บางละมุง จังหวัดชลบุรี โรงยิมแห่งนี้ผลิตแชมป์เปี้ยนหลายคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงยอดแสนไกล แฟร์เท็กซ์ในตำนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนักสู้มวยไทยที่ได้รับการตกแต่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ไทเกอร์มวยไทย

7. ไทเกอร์มวยไทย ภูเก็ต 7/6 ซอยตาเอียด หมู่ 5 ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในสถานที่ฝึกอบรมที่ดีที่สุด มีชั้นเรียนที่หลากหลาย เช่น การฝึกมวยไทย มวยสากล BJJ MMA ชั้นเรียนฟิตเนส ความแข็งแรงและการปรับสภาพร่างกาย และ K1 คิกบ็อกซิ่ง

ละไมมวยไทย เกาะสมุย

8. ละไมมวยไทย เกาะสมุย 82/4 หมู่ 3 ละไม เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่บนเกาะท่องเที่ยวของเกาะสมุยในประเทศไทย ดำเนินการภายใต้สภามวยไทยโลก (WMC) และเป็นที่รู้จักว่าเป็นหนึ่งในโรงยิมมวยไทยที่ดีที่สุดในประเทศไทยสำหรับนักท่องเที่ยว โดยโรงยิมมีนักมวยที่เข้าแข่งขันที่เฉวงมวยไทยสเตเดี้ยมในเกาะสมุย และมีแพ็คเกจที่พักสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าพักในสถานที่ อีกทั้งสถานที่ตั้งของละไมมวยไทยทำให้ที่นี่เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับนักสู้ที่มองหาค่ายฝึกระยะยาว และยินดีต้อนรับนักเรียนทุกระดับประสบการณ์ รวมถึงผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเพื่อฝึกซ้อมเพียงครั้งเดียว

บัวขาว วิลเลจ

9. บัวขาว วิลเลจ 5/1 บ้านสบเลิม หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ค่ายมวยของบัวขาว บัญชาเมฆ นักชกขวัญใจชาวไทย ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ปัจจุบันมีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่อยากเรียนรู้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยขนานดั้งเดิมเข้ามาใช้บริการมากทีเดียว นอกจากนี้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น และศึกษาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ แบบพอเพียง ตั้งแต่ขั้นตอนการทำไร่, ทำนา และ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งสามารถนำผัก และไข่ที่ได้จากในฟาร์มมาทำอาหารทานได้เอง ปัจจุบันจึงได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่

Muay Thai FA group

10. Muay Thai FA group 270 ถนน วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชาวต่างชาตินิยมมาเรียนเยอะมาก เรียนต่อยมวยเพื่อป้องกันตัวแบบจริงจังเลย หรือจะเรียนเพื่อออกกำลังกายลดน้ำหนัก สามารถเลือกได้ในแบบของคุณเอง

มวยไทยนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ได้ผ่านการถ่ายทอดของสื่อต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ที่ช่วยส่งเสริมมวยไทยในวัฒนธรรมสมัยนิยม เช่น ภาพยนตร์ และวิดีโอเกม เป็นต้น กลายเป็นกีฬาบันเทิงใจที่ต่างชาติต้องหลั่งใหลเข้ามาชมสักครั้งในชีวิต นอกจากจะได้ชมศิลปะแม่ไม้มวยไทยการต่อสู้แบบหมัดต่อหมัด แข้งต่อแข้งแล้ว ยังมีศิลปะการร่ายรำไหว้ครูมวยไทยให้ได้รับชมอีกด้วย

ค่าความนิยมของมวยไทยในหมู่ชาวต่างขาตินั้นสูงขึ้นกว่าในอดีต วัดได้จากการเก็บสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2559 โดยจากผลสำรวจพบว่ามีชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเรียนมวยไทยจำนวนมากกว่า 50,000 คน ซึ่งประกอบไปด้วย สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, เยอรมัน, สวีเดน, รัสเซีย, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศษ, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, และ สเปน ซึ่งความนิยมดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยในปี พ.ศ. 2561 มวยไทยได้สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าหนึ่งแสนล้านบาท โดยมีค่ายมวยในประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 5,100 แห่ง และยังส่งต่อค่ายมวยยังประเทศอื่นๆ อีกมากมาย จนปัจจุบัน มวยไทย ได้เป็นกีฬาสากล ที่มีการจัดการแข่งขันขึ้นทั่วโลก

Muay Thai Boxing